กทม. เตรียมรับภาระทำหมัน ฝังชิพสุนัขแทนเจ้าของ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 17, 2010 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. ประสานเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน แก้ปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่ พร้อมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดึงสถานพยาบาลสัตว์เอกชนร่วมทำหมัน ฝังชิพ โดยกทม. ออกค่าใช้จ่ายให้ มุ่งล้อมกรอบ ลดจำนวนสุนัขจรจัด ประชาชนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า คาดหากเป็นไปแนวทางที่วางไว้จะประสบผลสำเร็จภายใน 6 ปี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในเขตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2553 โดยมีผู้แทนภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เพื่อหาแนวทางควบคุมการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัด และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขด้วยความรับผิดชอบ เอาใจใส่ ไม่ปล่อยให้ออกมาเพ่นพ่าน สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น รวมถึงนำสุนัขไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และโรคอื่นๆ ครบตามกำหนด โรงพยาบาลสัตว์เอกชน 140 แห่ง พร้อมร่วมมือ พญ.มาลินี กล่าวว่า สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับคน และโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีอันตรายทำให้ประชาชนเสียชีวิตได้ โดยปัจจุบันกทม. ได้เร่งควบคุมจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลโดยเร็ว จึงได้ขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนในการควบคุมจำนวนสุนัขจรจัด รวมถึงป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการทำหมัน และฝังไมโครชิพสุนัขฟรีแก่เจ้าของ โดยกทม. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งจากการสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ มีโรงพยาบาลสัตว์/คลินิกรักษาสัตว์เอกชนสมัครเข้าร่วมโครงการฝังไมโครชิพสุนัข 55 แห่ง เข้าร่วมโครงการผ่าตันทำหมัน 44 แห่ง และร่วมทั้ง 2 โครงการ 41 แห่ง ซึ่งกทม. จะเร่งดำเนินการในรายละเอียดและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบ และให้บริการแก่ผู้เลี้ยงสุนัขโดยเร็ว นอกจากนี้กทม. ยังมีแนวทางในการจัดสถานที่พักพิงสุนัข และจัดทำสวนสาธารณะสำหรับสุนัขให้เจ้าของสามารถนำสุนัขไปเดินเล่น ออกกำลังกาย เพื่อให้สุนัขได้ผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดความดุร้าย จากการอยู่แต่ในบ้าน ห้องแคบๆ หรือกรงขังเพียงอย่างเดียว ซึ่งในสังคมมีทั้งคนรักสุนัขและไม่รักสุนัข ต้องอาศัยความเข้าใจ และร่วมมือกันจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัขต้องเลี้ยงและดูแลสุนัขอย่างให้ดี มีความรับผิดชอบ และหากการดำเนินการเป็นไปตามระบบหรือแนวทางที่วางไว้ คาดว่าภายใน 6-10 ปี จะสามารถแก้ปัญหาสุนัขจรจัด และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ