กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สสส.
การทำการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการใช้ปุ๋ย ยา และสารเคมี ได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งในด้านของสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเกษตรกรยังต้องซื้อหาปัจจัยการผลิตเหล่านี้ในราคาแพงทำให้เกิดปัญหาภาระหนี้สินสะสม เป็นวัฏจักรที่นำพาให้เกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติเดินหน้าไปสู่ความล่มสลาย
ชาวบ้านดอนหมู ต.ขามเปี้ย อ.ตระการพืชพล จ.อุบลราชธานี ได้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงร่วมกันหาทางออก โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำรงชีวิต หันมายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเปลี่ยนรูปแบบการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน หันไปทำเกษตรกรรมพึ่งพาธรรมชาติ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี
“โครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง” จึงถือกำเนิดขึ้นมาจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน โดยน้อมนำแนวคิดในเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับและประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นหมู่บ้านพึ่งพาตนเอง ลดละเลิกอบายมุข สร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายธีรชาติ ปลาทอง หัวหน้าโครงการฯ และประธานกลุ่มโรงเรียนชาวนาบ้านดอนหมู เปิดเผยว่า โครงการนี้ฯ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนเลิกใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการทำนาและปลูกพืชผักต่างๆ มีการตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นในชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยกิจกรรมหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการขยายผลแนวคิดการพึ่งพาตนเองของชาวบ้านก็คือ “ธนาคารปุ๋ยหมักชีวภาพต้านปุ๋ยเคมี” และการร่วมกันดูแลรักษา “ป่าดอนใหญ่” ซึ่งป่าป่าชุมชนที่มีเนื้อที่กว่า 600 ไร่
“ป่าผืนนี้เป็นป่าที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์ให้คงอยู่และมีความอุดมสมบูรณ์มากมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 600 ไร่ ทำให้เรามีอาหารหลากหลาย สามารถหาได้ตามฤดูกาล บางคนแทบจะไม่ต้องซื้ออาหารจากตลาดเลย ป่าชุมชนจึงเป็นซูเปอร์มาเก็ตที่ทำให้ในคนชุมชนมีอาหารที่หลากหลายและเป็นอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี ส่วนธนาคารปุ๋ยหมักชีวภาพต้านปุ๋ยเคมี ชาวบ้านทุกคนจะร่วมกันทำปุ๋ยหมักเมื่อหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไปทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้ ซึ่งธนาคารปุ๋ยหมักชีวภาพเป็นการบ่งบอกให้คนในชุมชนรู้และตระหนักถึงการต่อต้านการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเรามีเป้าหมายว่าในวันข้างหน้าเราจะไม่ให้มีปุ๋ยเคมีแม้แต่เม็ดเดียวในชุมชนของเรา” นายธีรชาติกล่าว
นายจันทร์แดง โครรัตน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ และประธานป่าชุมชนป่าดอนใหญ่เล่าว่าป่าแห่งนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่ร่วมกันอนุรักษ์จากผืนป่าที่เหลือเพียง 100 ไร่ในปี 2528 จนกลับกลายมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ถึง 620 ไร่ในปัจจุบัน ป่าผืนนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตลาดสดของชาวบ้าน ในแต่ละฤดูกาลจะมีอาหารมากมายในป่าทั้ง แมลง หน่อไม้ เห็ดนานาชนิดรวมไปถึงเห็ดที่มีราคาแพงอย่าง ”เห็ดโคน” ก็มีเป็นจำนวนมากซึ่งสร้างรายได้กับชาวบ้านในช่วงฤดูที่เห็ดออกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้มีลำห้วยไหลผ่านซึ่งจะมีกุ้งหอยปูปลาให้จับได้ตลอดทั้งปี รวมถึงเป็นแหล่งยาสมุนไพรพื้นบ้านที่หลายหน่วยงานเข้ามาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และทำการวิจัย
“ป่าแห่งนี้เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันกับป่าอย่างยั่งยืน มีกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์จากผืนป่าแห่งนี้ที่ทุกคนยอมรับ เพราะทุกคนรู้และตระหนักว่าป่าไม้ถือเป็นหัวใจของชุมชน ทุกวันนี้เด็กๆ ทุกคนในชุมชนรู้จักกฎระเบียบของการใช้ป่าชุมชน ทุกคนต้องช่วยกันดูแลป่า ใครอยู่ใกล้ป่าต้องคอยดูแลเฝ้าระวังเรื่องไฟไหม้หรือการลักลอบตัดไม้” ประธานป่าชุมชนระบุ
นายยรรยง จิตรติกรกุล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดอนหมู และผู้ช่วยหัวหน้าโครงการฯ บอกว่าปัจจุบันได้มีการรณรงค์ในเรื่องของการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง จนได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานการผลิต GAP ผลิตและขายเองภายใต้ชื่อ “ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ของโรงเรียนชาวนาเกษตรอินทรีย์” โดยไม่ง้อโรงสีหรือการรับประกันราคาของรัฐ ทำให้มีราคาขายที่แพงกว่าการรับซื้อจากพ่อค้านายทุน โดยทุกวันนี้มียอดสั่งซื้อปีละไม่น้อยกว่า 20 ตัน
“เราได้มีการจัดตั้งโรงสีชุมชนรับซื้อข้าวจากสมาชิก แปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายให้กับเครือข่ายเกษตรกรรมธรรมชาติของเรา โดยจะไม่รับสีข้าวจากนาที่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีเลย ซึ่งการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยหมักนั้นจะมีต้นทุนการผลิตรวมแล้วไม่ถึงไร่ละ 100 บาท ชาวบ้านสามารถทำเองได้ทั้งหมดตั้งแต่การร่วมกันทำปุ๋ยหมักเก็บไว้ในธนาคารและการขยายพันธุ์ข้าวเอง ลดต้นทุนด้วยการปักดำเพียง 1 ต้น ซึ่งแตกต่างจากนาที่ใช้สารเคมีที่ต้องมีต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวรวมแล้วสูงถึง 2,000 บาทต่อไร่ยังไม่นับรวมกับค่าแรง นอกจากนี้ผลผลิตที่ได้ก็แตกต่างกันจากซึ่งเราพบว่าข้าวที่ได้จากนาเคมี 1 กิโลกรัมจะมีประมาณ 4 หมื่นเมล็ด ส่วนข้าวจากนาอินทรีย์ 1 กิโลกรัมจะมีข้าวเพียง 3 หมื่นเมล็ดเพราะข้าวจะมีน้ำหนักมากกว่า” นายบรรยงกล่าว
นอกจากการทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการทำการเกษตร และการดูแลป่าเพื่อรักษาฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนไว้แล้ว ชาวบ้านดอนหมูยังได้มีการดำเนินกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายทั้ง การรณรงค์ให้ชาวบ้านลดละเลิกอบายมุข ส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย การจัดสภาพแวดล้อมของชุมชนฯลฯ โดยปีเป้าหมายร่วมกันของชุมชนคือการพัฒนาหมู่บ้านไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. ระบุว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักที่สามารถนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตได้ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพและการเกษตรที่สามารถอธิบายในเรื่องของความพอเพียงได้เป็นอย่างดี
“เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยหมักทำเกษตรอินทรีย์จะช่วยให้ชาวบ้านห่างไกลจากสารเคมี ผลผลิตปลอดสารพิษ คนกินก็ปลอดภัย โดยถ้าเราสามารถดำรงชีวิตได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงให้แนวทางไว้ก็จะทำให้ชุมชนหรือสังคม สามารถดำรงตนได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาวะมากขึ้นกว่าเดิม” นางงามจิตต์กล่าวสรุป