กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สสส.
“แม่น้ำปราจีนบุรี” เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนในจังหวัดปราจีนบุรีมาอย่างยาวนาน เป็นแหล่งน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา การชลประทาน การเกษตร การประมง โรงงานอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรองรับของเสียต่างๆ มากมายภายหลังจากการนำ “น้ำ” ไปใช้ประโยชน์
ในเดือนพฤศจิกายน 2545 ได้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีตั้งแต่อำเภอบ้านสร้างไปจนถึงตอนบนของแม่น้ำบางปะกง ทำให้ปลาในกระชังและสัตว์น้ำต่างๆ ตายเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษพบว่าสาเหตุที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงมาจากการระบายน้ำจากประตูน้ำคลองสารภี เพื่อลดระดับน้ำในท้องนาให้เกษตรกรสามารถเกี่ยวข้าวได้ในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งน้ำที่ระบายออกมานั้นมีความสกปรกมากและมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำเกือบเป็นศูนย์
ต่อมาในปี 2547 ก็ได้เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง จนทางจังหวัดต้องประกาศเป็นกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน และในปี 2549 ก็ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยขยายพื้นที่ความเสียหายไปจนถึงปากแม่น้ำบางปะกง มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท จนประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมตัวกันร้องเรียนกับรัฐบาลเพื่อขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาน้ำเสียจากประตูระบายน้ำคลองสารภี
เพื่อเป็นการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับแหล่งน้ำสำคัญของชาวปราจีนบุรี ศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี ร่วมกับ ภาคีประชาคมลุ่มน้ำปราจีนบุรี จึงได้จัดทำ “โครงการแม่น้ำสุขภาพดีที่ปราจีนบุรี” ขึ้นเพื่อพัฒนาระบบการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และสร้างเครือข่ายรณรงค์อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำปราจีนบุรี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายวิชัย มุกดาหาร ประธานชมรมรักษ์แม่น้ำปราจีนบุรี เปิดเผยว่าในช่วงแรกที่เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียทุกคนก็พุ่งเป้าที่ไปโรงงานอุตสาหกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่จากการทำงานพบว่าน้ำเสียที่เกิดจากภาคการเกษตรและชุมชนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากประตูระบายน้ำคลองสารภี ประกอบกับหลายฝ่ายยังไม่เข้าใจถึงระบบนิเวศน์ของแม่น้ำปราจีนบุรีที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องของอุทกวิทยาหรือน้ำขึ้น-น้ำลงซึ่งจะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนและคุณภาพของน้ำในแม่น้ำ
“พอเราทำความเข้าใจกับระบบนิเวศน์เราก็เข้าใจว่าต้นน้ำคืออะไร กลางน้ำ ปลายน้ำคืออะไร หลังจากนั้นก็เริ่มทำแผนที่สำรวจจุดเสี่ยงว่าในพื้นที่ทั้งหมดนั้นมีจุดไหนบ้างที่เราจะวางยุทธศาสตร์ในการเฝ้าระวังป้องกัน ซึ่งเราพบว่าจุดเสี่ยงไม่ได้อยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ภาคการเกษตรเองก็มีส่วนที่ทำให้น้ำเสีย โดยเราได้กำหนดจุดเสี่ยงจากภาคการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนจำนวน 10 จุดเพื่อตรวจวัดและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ เริ่มต้นเหนือสุด ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี ปลายสุดอยู่ที่ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง อย่างเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเครือข่ายเฝ้าระวังของที่ อ.บ้านสร้างส่งข้อมูลขึ้นมาว่าตอนนี้น้ำเค็มขึ้นมาถึงแล้ว เวลาที่น้ำไหลลงชาวนาก็จะตุนน้ำจืดเข้าไปในนา เพราะถ้าสูบน้ำเค็มเข้านาข้าวก็จะเสียหายไม่ออกรวง ซึ่งโครงการนี้นอกจากชาวประมงได้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังตนเองแล้ว ชาวนาก็ยังได้ประโยชน์ในการดึงน้ำจืดขึ้นไปใช้” นายวิชัยระบุ
นายพรทิพย์ สมนาม เครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ต.บ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง และเกษตรกรที่ทั้งทำนา เลี้ยงปลา และเลี้ยงกบในกระชังกล่าวว่า แม่น้ำปราจีนบุรีมักจะเกิดการเน่าเสียในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และก็จะมีภาวะน้ำเค็มรุกในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งจะส่งผลกับน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคและในการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปิดประตูระบายน้ำคลองสารภีตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนในปี 2549 ก็เกิดการเสียหายครั้งใหญ่ทำให้เกิดมีกระบวนการทำงานภาคประชาชนตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งหลังจากเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีปัญหาน้ำเน่าเสียและปลาตาย
“ช่วงที่กระทบรุนแรงคือเดือนพฤศจิกายน น้ำเสียจะมากที่สุดและน้ำในแม่น้ำเองก็มีน้อย ชาวนาก็จะต้องเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งจะต้องไขน้ำออกจากนา ในคลองสารภีมีน้ำประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะมีนา 15,000 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนาปีมีการเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แล้วมาปล่อยออกในช่วงพฤศจิกายน คุณภาพน้ำที่ปล่อยออกมาจึงมีคุณภาพไม่ค่อยดี เมื่อมีการเปิดประตูระบายน้ำก็จะมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าน้ำเริ่มมีค่า DO หรือค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำอยู่ในระดับ 2 ก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังประมงจังหวัด และกลุ่มเครือข่ายให้ชาวบ้านเตรียมรับมือ และแจ้งไปทางกรมชลประทานให้หริบหรี่ประตูระบายน้ำลง เพราะว่าการเปิดประตูสารภีจะต้องคำนึงถึงช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลงด้วย เพราะช่วงน้ำทะเลหนุนขึ้นก็จะดันน้ำที่เน่าเสียมากองอยู่ตรงช่วงกลางของแม่น้ำเป็นก้อนน้ำเสียขนาดใหญ่ ประตูระบายจะต้องหรี่ลงหรือไม่ปล่อยน้ำลงมาจนกว่าน้ำจะเคลื่อนตัวไปแล้ว พอมีโครงการนี้และมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเข้ามาก็ทำให้ความความเข้าใจผิดและความขัดแย้งที่เคยมีมาในอดีตของชาวนา ชาวประมง กับส่วนราชการ และผู้ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำ ก็หมด
ไป ธรรมดาในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะหากินกันแทบไม่ได้ แต่ปัจจุบันจะเห็นมีเรือตกกุ้ง ซึ่งขายได้กิโลกรัมละ 5-600 ร้อยบาท เห็นได้ว่าธรรมชาติเริ่มกลับคืนมา แล้วเราก็พยายามผลักดันท้องถิ่นให้ช่วยในการเอาพันธุ์กุ้งพันธุ์ปลามาปล่อยลงในแม่น้ำทุกปี สัตว์น้ำต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นมา ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงท้องถิ่นก็หากินได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน” นายพรทิพย์ระบุ
นางบุษบงก์ ชาวกัญหา ผู้จัดการศูนย์พัฒนากิกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรีและ ผู้ประสานงานโครงการฯ เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมีความต้องการในเรื่องของปริมาณและคุณภาพของน้ำที่ไม่ตรงกัน เดือนพฤศจิกายนชาวนาต้องการที่จะระบายน้ำออกซึ่งคุณภาพน้ำจากแปลงนามีคุณภาพต่ำ ส่วนผู้เลี้ยงปลากระชังและประมงท้องถิ่นต้องการคุณภาพน้ำที่ดี คนที่อยู่ในเมืองไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียก็จะระบายลงสู่แม่น้ำ ช่วงที่น้ำน้อยและได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลงก็จะทำให้เกิดวิกฤติแม่น้ำเกิดขึ้นอย่างรุนแรงบริเวณท้ายน้ำกับกลางน้ำ ความต้องการที่ไม่ตรงกันของแต่ละฝ่ายทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรง เหตุหนึ่งมาจากการขาดข้อมูลที่ถูกต้อง และต่างคนต่างเอาความต้องการตัวเองเป็นตัวหลัก
“เราเริ่มจากเข้าไปทำให้ชาวนา คนเลี้ยงปลาในกระชัง หรือชุมชนที่อยู่ริมน้ำตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาก่อน หลังจากพบปัญหาก็มาสร้างกระบวนการเรียนรู้วิธีการที่จะดูแลแม่น้ำร่วมกัน จากการทำงาน 3 ปีสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ ความตื่นตัวจากคนใช้น้ำทั้ง 3 ส่วน กลุ่มเลี้ยงปลากระชังแทนที่จะเป็นคนโวยวายเวลาน้ำเสีย ก็ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังคุณภาพน้ำและคอยเตือนพวกให้กับเครือข่ายและภาครัฐ และช่วงไหนที่มีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากนา ยกตัวอย่าคลองบางไผ่ที่อยู่บริเวณกลางน้ำ กลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังก็ไปช่วยกันเก็บผักตบชวาในลำคลองเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้มากที่สุดก่อนที่จะมีการระบายน้ำ ตัวผู้เลี้ยงปลาเองก็ลดการใช้ยาหรือสารเคมีที่จะทำให้น้ำเน่าเสีย และตอนนี้เทศบาลเมืองปราจีนบุรีก็มีแผนที่จะสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2553 สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน” นางบุษบงก์กล่าว
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า เรื่องของการดูแลรักษาลุ่มน้ำเป็นเรื่องที่ทาง สสส. ดำเนินการเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระราชินีฯ เพราะน้ำคือชีวิตและเกี่ยวพันกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ถ้าน้ำกิน น้ำใช้สะอาด ก็ปลอดภัยต่อสุขภาพ ทำการเกษตรหรือการทำประมงต่างๆ ก็จะทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีสารพิษ
“การรักษาลุ่มน้ำจะทำให้ชุมชนและคนที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่า เห็นความสำคัญของลุ่มน้ำที่มีต่อชุมชน ส่วนหนึ่งจะช่วยทำให้เกิดการระดมพลังของชาวบ้านรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานด้านและการมีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านอื่นๆ ต่อไป” นางงามจิตต์กล่าวสรุป.