กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สสส.
จากการสำรวจข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุจำนวน 351 คนในตำบลคลองนา จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับโรคเรื้อรังถึงร้อยละ 35.04 ซึ่งโรคที่ผู้สูงอายุป่วยกันมากที่สุดคือโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง โดยคิดเป็นร้อยละ 9.6 และ 25.36 ตามลำดับ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุในตำบลคลองนาก็คือ “พฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง” รวมไปถึง “ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ” ทำให้ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 40 อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น “โรคอัมพฤษ์และอัมพาต” อันจะส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา จึงเกิดแนวคิดที่จะดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการจัดทำ “โครงการการพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบองค์รวม” ขึ้นสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยทาง อบต.คลองนา จึงร่วมกับ สถานีอนามัยคลองนา จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในด้าน “โภชนบัญญัติ 9 ประการ” และ “การออกกำลังกาย” ให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีความรู้และความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขภาพ รวมไปถึงแนวทางป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองอย่างเหมาะสม
นางสาวเอมอร รอดพิทักษ์ ผู้ประสานงานโครงการเปิดเผยว่า โครงการนี้มีเป้าหมาย 4 ด้านคือ 1) สร้างการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุโดยจัดให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 2) ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในเรื่องของการดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพและเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 3) พัฒนาสมาชิกในครอบครัวของผู้สูงอายุให้มีความรู้ความสามารรถในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง และ 4) ส่งเสริมให้มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อให้เกิดการติดตามผลการดำเนินงานดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
“โรคที่พบในผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เราจึงได้จัดการอบรมในเรื่องของการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ อาทิ การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานหรือเค็มจัด เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ก็ยังให้ความรู้ในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายนั้นมีความจำเป็นสำหรับคนทุกวัยไม่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุ เพราะว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้เรื่องของภูมิต้านทาน ช่วยให้ร่ายกายแข็งแรง ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อันเป็นต้นเหตุของโรคเบาหวานและโรคความดัน ถ้ามีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสมวัย ร่วมกับการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งถ้าผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี มีสุขภาวะองค์รวมที่ดี จะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่ดี สมาชิกในครอบครัวก็ไม่ต้องแบกรับภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านการดูแล ทำให้ครอบครัวมีสุขภาพจิตที่ดี” นางสาวเอมอรกล่าว
นางเกศสุดา วรรณประเวศ หัวหน้าสถานีอนามัยคลองนา กล่าวว่า ตำบลคลองนามีลักษณะเป็นชุมชนเมือง ผู้สูงอายุจะมีการบริโภคที่ดี แต่ขาดความรู้ในเรื่องการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง ไม่มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันเป็นจำนวนมาก
“กิจกรรมในวันนี้เราจะเน้นในการให้ความรู้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้เขาสามารถเลือกทานอาหารได้ถูกหลัก และมีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น ซึ่งถ้าผู้สูงอายุตระหนักในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพ จะส่งผลดีต่อตนเองและครอบครัว และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมาได้เช่นโรคอัมพฤกษ์ และโรคอัมพาต แล้วก็ไม่เป็นภาระของคนครอบครัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเสียเวลาในการดูแลผู้สูงอายุค่าใช้จ่ายต่างก็จะลดลง ซึ่งเราหวังว่าโครงการนี้จะทำให้จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงจากโรคเบาหวานและโรคความดันลดลง อันเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหาร รวมไปถึงพฤติกรรมการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ด้วย” หัวหน้าสถานีอนามัยคลองนาระบุ
นางจำนอง เลิศวิลัย อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านและ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ วัย 66 ปี ต้นแบบผู้สูงอายุในชุมชนที่มีสุขภาพดีเล่าถึงการดูแลรักษาตัวเองของผู้สูงอายุว่า
“ถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานหรือโรความดันต้องปรับพฤติกรรมการทานอาหารโดยต้องงดกินรสเค็ม งดผงชูรส กินข้าวให้น้อยและทานผักผลไม้เยอะๆ และต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นั่งเฉยๆ อยู่ที่บ้านก็สามารถออกกำลังกายได้ด้วยการแกว่งแขน-ยกขาอยู่กับที่” คุณยายจำนองระบุ
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของ สสส. เมื่อสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุว่า สสส. ได้มีการวางแผนการเตรียมความพร้อมให้กับประชากรที่จะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุว่าจะต้องมีการเรียนรู้ในเรื่องใดบ้าง อาทิเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพร่างกาย
“ถ้าผู้สูงอายุมีการเตรียมตัวที่ดีตั้งแต่แรก เช่นการรับประทานอาหารที่ถูกต้องครบหมู่ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายที่พอเพียง เราก็จะสามารถลดภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้ หรือการสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุหลังการเกษียณอายุก็จะทำให้เขามีเพื่อน มีสังคม ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดี ซึ่งเราอยากให้เขามีลักษณะเป็นผู้สูงอายุที่กระฉับกระเฉง ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชนด้วยตัวเอง หรือชักชวนลูกหลานในชุมชนมาทำ โดยเฉพาะกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะชอบรวมตัวกันออกกำลังกาย กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีการพบปะทางสังคม สุขภาพจิตก็จะดีขึ้น สุขภาพกายก็จะดีขึ้น” นางงามจิตต์ กล่าวสรุป.