กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
“ศรีปทุมโพล” โดยสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปุทม ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของประชาชนจากรายการโทรทัศน์ประเภทรายการเล่าข่าว จากลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,000 คน ซึ่งดร.ปิยกร หวังมหาพร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้สรุปผลการสำรวจดังนี้
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.70 รู้จัก และดูรายการโทรทัศน์ประเภทรายการเล่าข่าวเป็นประจำ, ร้อยละ 31.23 รู้จัก และดู้บ้าง เช่น ดูในวันหยุดเสาร์อาทิตย์, ร้อยละ 20.47 รู้จัก แต่ไม่ค่อยได้ดู หรือดูนานๆ ครั้ง และร้อยละ 1.60 ไม่รู้จักรายการประเภทนี้เลย
สำหรับรายการที่ประชาชนนิยมดูมากที่สุด คือรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ร้อยละ 58.23, รองลงมา คือรายการเช้านี้ที่หมอชิต ร้อยละ 10.99, รายการยามเช้านี้ ร้อยละ 8.77, รายการอื่นๆ ร้อยละ 8.63, รายการเช้าข่าวข้น คนข่าวเช้า ร้อยละ 6.51, รายการสนามเป้าเล่าข่าว ร้อยละ 3.44 และรายการเก็บตก จากเนชั่น ร้อยละ 3.44
ส่วนเหตุผลที่ประชาชนนิยมดูรายการเล่าข่าวข้างต้น ส่วนใหญ่ เห็นว่า ทันต่อเหตุการณ์ ร้อยละ 29.07, รองลงมาเป็นเหตุผล เพราะ ทำให้การรับรู้ข่าวสารมีอรรถรสต่างจากเดิม ร้อยละ 18.70, ไม่ต้องอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เอง ร้อยละ 17.68, ไม่เสียเวลาในการรับข่าว เช่น รับประทานอาหาร แต่งตัวในขณะที่รับรู้ข่าวสารไปได้ด้วย ร้อยละ 14.94, ประหยักค่าใช้จ่ายในการซื้อข่าว จากนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ มาบริโภค ร้อยละ 12.20, ชอบพิธีกรเป็นการส่วนตัว ร้อยละ 7.25 และด้วยเหตุผลอื่นๆ นอกจากนี้ ร้อยละ 0.17
ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยากเพิ่มเติมคืออยากให้มีความเป็นกลางในการวิเคราะห์ข่าว ร้อยละ 25.68, อยากให้ประชาชนสามารถส่งเรื่องที่มีความจำเป็นในการออกสื่อ เช่น การตามหาคนหาย เป็นต้น ร้อยละ 14.91, อยากให้ประชาชนสามารถส่งคลิปข่าวที่ไม่ได้ลงสื่อ แต่น่าสนใจเพื่อให้นำมาเสนอในรายการ ร้อยละ 14.13, อยากให้เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ประกาศข่าว ร้อยละ 12.03, อยากให้นำเสนอข่าวเดียวกันจากหลายแหล่งเพื่อเปรียบเทียบ ร้อยละ 9.72, อยากให้นำเสนอเฉพาะข่าวสร้างสรรค์เท่านั้น ร้อยละ 8.40, อยากให้เวียนพิธีกรในการอ่านข่าวเพื่อความไม่จำเจ ร้อยละ 7.32, อยากให้ดารายอดนิยมมาดำเนินรายการบ้าง ร้อยละ 7.25 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.58
สำหรับพิธีกรที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด คือ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ร้อยละ 50.44, รองลงมา คือเอกราช เก่งทุกทาง ร้อยละ 9.93, กฤติกา ศักดิ์มณี ร้อยละ 9.82, กนก รัตน์วงศ์สกุล ร้อยละ 9.32, จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ร้อยละ 7.11, สุทธิชัย หยุ่น ร้อยละ 4.95, ศศิวรรณ์ เลิศวิริยะประภา ร้อยละ 3.15, มนัส ตั้งสุข ร้อยละ 2.41, จำเริญ รัตนตั้งตระกูล ร้อยละ 2.37 และพิธีกรคนอื่นๆ ร้อยละ 0.51
ส่วนเหตุผลที่ชื่นชอบพิธีกรดังกล่าว ส่วนใหญ่ เห็นว่าเพราะเตรียมตัวมาดี เช่น ดูมีความรู้เกี่ยวกับข่าวที่นำเสนอ ร้อยละ 20.53, มีประสบการณ์ในการอ่านข่าวจนเกิดความไว้วางใจในข่าวที่นำเสนอ ร้อยละ 14.13, พูดจาฉะฉานเสียงดังฟังชัด ร้อยละ 13.79, นำเสนอข่าวเป็นกลาง ร้อยละ 13.31, มีชื่อเสียง ร้อยละ 11.35, เล่าข่าวได้สนุก ตื่นเต้นเร้าใจ ร้อยละ 10.60ล ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ร้อยละ 9.11, พูดถูกต้องตามหลักภาษาไทย ร้อยละ 3.69 และ บุคลิกหรือหน้าตาดี ร้อยละ 0.61
โดยดร.ปิยากร ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักรายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์และมักจะดูเป็นประจำเป็นส่วนใหญ่ รายการเล่าข่าวยอดฮิตที่ประชาชนนิยมมากที่สุด คือ รายการเรื่องเล่าเช้านี้ รองลงมาคือ รายการเช้านี้ที่หมอชิต พิธีกรที่ประชาชนชื่นชอบก็คงหนีไม่พ้น นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เพราะเป็นพิธีกรของรายการเล่าข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนมากที่สุด ประชาชนที่ชื่นชอบในตัว นายสรยุทธ ให้เหตุผลว่าที่ชื่นชอบ เพราะ มีการเตรียมตัวมาอย่างดี เช่น ดูมีความรู้เกี่ยวกับข่าวที่นำเสนอ รองลงมา เพราะ พูดจาฉะฉานเสียงดังฟังชัด
เมื่อถามถึงเหตุผลที่นิยมดูรายการเล่าข่าว ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเพื่อต้องการทันต่อเหตุการณ์ รองลงมาคือ ทำให้การรับรู้ข่าวสารมีอรรถรสต่างจากเดิม และ ไม่ต้องอ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการที่จะบริโภคข่าวเพื่อให้ทันเหตุการณ์และไม่ต้องการอ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์เอง ต้องการให้มีคนมาเล่าข่าวให้ฟังโดยการเพิ่มอรรถรสลงไปให้ดูสนุกสนานกว่าการบริโภคข่าวแบบเดิม แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่ประชาชนต้องการมากกว่าการที่มีพิธีกรมาเล่าข่าวให้ฟังคือ อยากให้พิธีกรมีความเป็นกลางในการวิเคราะห์ข่าว ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าพิธีกรอ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่อาจจะมาจากแหล่งเดียวหรือไม่กี่แหล่ง ไม่ได้มีการวิเคราะห์จากแหล่งข่าวที่หลากหลายจึงทำให้การวิเคราะห์ข่าวขาดความเป็นกลาง หรืออาจจะมีการโอนเอียงในการวิเคราะห์ข่าวด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการประชาชนจึงอยากจะขอให้พิธีกรช่วยวิเคราะห์ข่าวให้เป็นกลางที่สุด รองลงมาคือ ประชาชนอยากให้เปิดโอกาสให้ส่งเรื่องที่มีความจำเป็นในการออกสื่อ เช่น ตามหาพ่อ ป่วยเป็นโรคร้ายต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แสดงให้เห็นถึงคนไทยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยา
กให้คนที่ด้อยโอกาส ได้รับโอกาสในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ได้รับสิทธิมากขึ้น และ ให้มีการเปิดให้ส่งคลิปข่าวที่ไม่ได้ลงสื่อ แต่มีความน่าสนใจ เพื่อให้นำมาเสนอในรายการ ซึ่งอาจจะมีข่าวที่น่าสนใจ ต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับการออกสื่อจึงกลายเป็นข่าวเงียบที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆเลย หรืออาจจะเป็นข่าวที่อาจโดนอิทธิพลบางอย่างทำให้ออกสื่อไม่ได้ประชาชนจึงอยากให้มีการส่งข่าวที่น่าสนใจมาเพื่อคัดเลือกนำมาออกสื่อ แต่อย่างไรก็ดีจากผลการสำรวจจึงได้ทราบว่าประชาชนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์รู้จักรายการเล่าข่าวและส่วนใหญ่ติดตามเป็นประจำ ดังนั้น รายการเล่าข่าวต่างๆ น่าจะมีการนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์ ไม่มีอคติใดๆในการวิจารณ์ข่าว เพราะ ประชาชนอาจจะมีการเอนเอียงตามพิธีกรที่ตนชื่นชอบหากมีการนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นกลาง