กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
พบเห็นตลาดนัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์เกลื่อน เป็นที่ละลายทรัพย์ ชาวบ้านมีแต่การใช้จ่าย ชี้ถึงเวลาต้องเยียวยาปล่อยไปวันข้างหน้าจะลำบาก พร้อมทิ้งคำถาม ทำอย่างไรให้เลือดไหลอยู่ข้างในไม่ออกไปข้างนอก
พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวในเวทีประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทย ครั้งที่ 27 ถึงคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเปรียบเทียบเหมือนเลือดที่ไปเลี้ยงไม่ทั่วร่างกายจนทำให้ร่างกายไม่มีเรี่ยวแรง
สมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวว่า การส่งเสริมให้ชาวบ้านเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างเงินสร้างรายได้แล้ว ทำอย่างไรให้เงินนั้นหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ การให้ความสะดวกสร้างความเชื่อมั่นกับบุคคลที่เขาจะไปออมด้วย การมีองค์กรขึ้นมารองรับแล้วนำเงินออมต่างๆ เข้ามาหมุนเวียนในระบบ ตรงนี้ยังไม่มั่นใจ เพราะอย่าลืมว่าสังคมไทยมี 3 ระดับ คือ คนบางกลุ่มบางหมู่บ้านยังอยู่ในสภาพหาอยู่หากิน จากนั้นก้าวมาสู่สังคมปลูกอยู่ปลูกกินเลี้ยงอยู่เลี้ยงกินขั้นนี้พอจะมีเงิน ออมบ้าง และทำมาค้าขาย มีเงินมาออม นำเงินออมมาลงทุน
พล.อ.จารุภัทร กล่าวอีกว่า หากมีการส่งเสริมหรือเพิ่มการผลผลิต ตามหลักภูมิศาสตร์เศรษฐกิจแล้ว ความรู้ในเรื่องการผลิตก็ต้องทันสมัย ต้องเป็นลักษณะฮาวทู เช่น การจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ต้องทำอย่างไร มีแบบอย่างให้ชาวบ้าน ฮาวทูในการสร้างเงินตรงนี้ต้องมี แต่ก็มีปัญหาอยู่ว่า เมื่อชาวบ้านมีเงินแล้วบริหารจัดการเป็นหรือไม่
“ขณะนี้ระบบทุนนิยมเข้าไปถึงหมู่บ้าน จะพบเห็นตลาดนัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นที่ละลายทรัพย์ จากกระบุง ปุ้งกี๋ ที่สานด้วยไม้ไผ่เลิกหมด มีแต่ทำด้วยพลาสติกขายเกลื่อนหมู่บ้าน ตลาดนัดทำให้การอดออมไม่มี มีแต่การใช้จ่าย จากตลาดที่ขายสินค้าในชนบท เช่นผักที่ปลูกเองวันนี้ไม่เหลือแล้ว มีแต่ของจากในเมืองในกรุง ทั้งเงินผ่อน เงินสด” พล.อ.จารุภัทร กล่าว และว่า วันนี้ชาวบ้านถูกกระแสโลกาภิวัฒน์ การบริโภคนิยมทำลายอย่างย่อยยับคงต้องมีการเยียวยา หากปล่อยต่อไปวันข้างหน้าจะลำบาก อีกทั้งครอบครัวทางภาคอีสานก็ไม่อบอุ่นเหมือนในอดีตอีกแล้ว ทำอย่างไรจะมาฟื้นความเป็นครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล ขึ้นมาใหม่ แล้วเอาตำบลเป็นองค์กรพัฒนาจีดีพีของตำบล พยายามให้ตำบลสร้างจีดีพีของตนเอง ทำอย่างไรให้เลือดไหลอยู่ข้างในไม่ออกไปข้างนอก เพื่อในที่สุดชาวบ้านสามารถผลิต สร้างเงินขึ้นมา บริหารจัดการ สร้างเงินในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ
สอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย โทร. 086-975-5914