กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมกราคม 2553 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,140 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ สภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 115.4 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนธันวาคม 2552 ที่ระดับ 113.6 ค่าดัชนีปรับตัวเกิน 100 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 โดยเป็นผลมาจากองค์ประกอบดัชนีด้านยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่องค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อรวมลดลง ทั้งนี้ภาวะการบริโภคในประเทศเริ่มทรงตัว และด้านการส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อต้นทุนประกอบการ จากการเปิดเสรีการค้าไทยอาเซียนซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการนำเข้าส่งออกลดลง
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากระดับ 111.5 ในเดือนธันวาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 111.0 ในเดือนมกราคม 2553 สาเหตุเนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่ายอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายรวม และปริมาณการผลิตจะปรับตัวลดลงในอนาคต โดยผู้ประกอบการมองว่าจะมาจากการชะลอตัวลงของการอุปโภคบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่มองว่ายอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศยังมีแนวโน้มดี
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมขนาดกลางปรับเพิ่มขึ้น เพราะยอดคำสั่งซื้อและยอดขายรวมปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, เซรามิก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, พลังงานทดแทน ยา อุตสาหกรรมยาปรับตัวเพิ่มขึ้นสองเดือนติดต่อกัน จากยอดขายในประเทศสูงขึ้นจากสินค้าประเภท ยาเม็ด ยาน้ำ, ยาเวชภัณฑ์, ยาแคปซูลประเภทยาปฏิชีวนะ มีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลสูงขึ้น และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล , เคมี, เหล็ก, ปูนซีเมนส์, อาหาร ซึ่งสถานการณ์ในอุตสาหกรรมเหล็กปรับตัวดีขึ้นเพราะผู้ผลิตมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มมากขึ้นจากงานก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้อุตสาหกรรมเหล็กปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมในกลุ่มปูนซีเมนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขาย ทำให้ผลประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมขนาดย่อมทรงตัวเนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดย่อมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยในเดือนมกราคมยอดคำสั่งซื้อในประเทศเริ่มปรับตัวลงเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เครื่องจักรกลการเกษตร, หัตถอุตสาหกรรม
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาคกลางและภาคตะวันออกปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ภาคอื่นปรับตัวลดลง โดยภาคกลางยอดขายของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ก๊าซ, ปูนซีเมนต์, อาหาร ,ยา, สมุนไพร, พลังงานทดแทน, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมก๊าซขยายตัวจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น และอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ที่มีการส่งออกไปยังยุโรปและออสเตรเลียมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมใน ภาคตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, พลาสติก, เคมี, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ภาคเหนือ ปรับลดลงจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขาย เช่นในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรม มียอดจำหน่ายประเภทภาพวาด ผ้าปักลดลง อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลงได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม, เครื่องจักรกลการเกษตร และสิ่งทอ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายลดลง กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มก็มียอดขายลดลงจากเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, ยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และภาคใต้ดัชนีความเชื่อมั่นยังทรงตัวเป็นผลมาจากองค์ประกอบด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งพบว่าอุตสาหกรรมยางมีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบลดลง จากปริมาณน้ำยางลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงยางผลัดใบ นอกจากนี้วัตถุดิบจำพวกผลไม้บรรจุกระป๋องก็มีปริมาณลดลงจากการหมดฤดูกาลผลไม้ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมหลักในภาคใต้มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) ปรับเพิ่มขึ้นในทั้งสองกลุ่มตลาด โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์และงานก่อสร้าง ซึ่งมีการก่อสร้างมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมในกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, ปูนซีเมนต์, หลังคาและอุปกรณ์, แกรนิตและหินอ่อน, พลังงานทดแทน, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดส่งออกยังคงขยายตัวจากความต้องการสินค้าในต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งพิจารณาได้จากองค์ประกอบทั้งยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมในกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก, เฟอร์นิเจอร์, ผลิตภัณฑ์ยาง,เคมี, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ,โรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ ได้รับผลดีจากสินค้าในกลุ่มไม้ยางพาราแปรรูปที่มียอดสั่งซื้อจากจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียสูงขึ้น
สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ พบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด เนื่องจากการปรับขึ้นของระดับราคาน้ำมันขายปลีกในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา รองลงมาคือความกังวลในสถานการณ์ทางการเมือง และสภาวะเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ ในขณะที่มีความกังวลในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยลดลง
และข้อเสนอแนะที่มี ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าโครงการมาบตาพุดมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจทำให้เลือกที่จะไม่ขยายการลงทุนในอนาคต ดังนั้นผู้ประกอบการจึงอยากให้ภาครัฐแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อปัญหามาบตาพุด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคตต่อไป สนับสนุนการจัดหาแรงงานทั้งประเภทฝีมือและไร้ฝีมือ ส่งเสริมการฝึกช่างฝีมือ แก้ไขปัญหาทางการเมืองให้เกิดความสมานฉันท์ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อประชาชน และช่วยเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม