กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง
กรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ชุมชนป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุร่วมกันจัดการทรัพยากรป่าชายเลนกว่า 1 แสนไร่ เน้นบริหารสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน ชู “เวฬุ Wet Land” เป็นลุ่มน้ำป่าชายเลนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนโดยประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดจันทบุรี
นายชากรี รอดไฝ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า พื้นที่บริเวณป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 120,000 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของ จังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราด จัดเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ ในช่วงหน้าฝนน้ำจะจืดลง ต่อมาในช่วงปลายฝนที่จะเข้าหน้าแล้งน้ำจะกร่อย และในหน้าแล้งน้ำจะเค็ม ถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสัตว์น้ำสามารถเข้ามาวางไข่ในช่วงน้ำจืดได้ พื้นที่ป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุจึงจัดว่ามีความหลากหลายและสมบูรณ์ทางนิเวศอย่างมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย
โดยจากการสำรวจพบว่ามีสัตว์น้ำมากกว่า 30 ชนิด และนกอีกกว่า 200 ชนิด ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไปจับจองทำกินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นเหตุให้ป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวทรุดโทรมไปกว่า 90 % ดังนั้น ทช.จึงได้เข้าร่วมกับประชาชนในพื้นที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าเพื่อที่จะฟื้นฟูป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุขึ้นมาใหม่
ด้านนายสมหมาย สรรพคุณ หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (อำเภอท่าสอน จังหวัดจันทบุรี) สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มีประมาณ 3,000 ครัวเรือน หรือราว 15,000 คน ส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการทำประมง ดังนั้นในการจะห้ามไม่ให้เข้าในป่าเลยคงเป็นไปไม่ได้ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของราชการมีน้อยไม่สามารถดูแลป่าทั้งแสนไร่ได้หมด จึงได้คิดวิธีในการให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนโดยที่เขาไม่ต้องทำลายป่า และยังมีรายได้เลี้ยงครอบครัว
“เมื่อปี 2548 ทช. ได้ร่วมกับประชาชนก่อตั้งสภาชุมชนพัฒนาป่าชายเลนขึ้น โดยได้น้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรับสั่งว่า คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้และในการฟื้นฟูป่านั้นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการสร้างป่านั้นด้วย การทำงานของ ทช. จึงยึดหลักการจัดการที่ว่า ต้องให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ที่อยู่ได้ เขาจึงจะไม่มาปล้นป่า ในขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย กล่าวคือ จัดการทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ซึ่งสภาชุมชนพัฒนาป่าชายเลนประกอบไปด้วยคนในพื้นที่ลุ่มน้ำเวฬุนั่นเองที่เข้ามาบริหารจัดการ โดยเริ่มการทำงานด้วยการปลูกป่า ทำแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและสร้างเขตห้ามจับสัตว์น้ำแห่งละ 200 — 500 ไร่ ให้กระจายไปทั่วทั้งลุ่มน้ำ หรือหากชาวบ้านคนใดจับสัตว์น้ำที่มีไข่ได้ก็จะนำมาใส่ในกระชังให้ได้ออกไข่ก่อน ด้านเศรษฐกิจได้จัดตั้งสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนขึ้นให้ชาวบ้านนำผลผลิตจากป่าชายเลนออกมาขาย อาทิ นำหวายลิงมาสานเป็นของใช้ในครัวเรือน การทำชาใบพลู การทำแยมต้นรำแพนหรือนำลูกของต้นประสักดอกแดงมากวนเป็นขนม เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าถ้าชาวบ้านขายผลผลิตจากป่าได้ ป่าก็จะยังคงอยู่” นายสมหมาย กล่าว
ปัจจุบันป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุได้รับการฟื้นฟูไปแล้วประมาณ 10,000 ไร่ และได้ขยายผลไปด้านการท่องเที่ยว โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายใต้ชื่อ เวฬุ เว็ทแลนด์ (Welu Wet Land) จังหวัดจันทบุรี มีกิจกรรม แค้มป์ปิ้ง นั่งเรือชมเหยี่ยว เดินป่าดูหิ่งห้อย เป็นต้น นายสมหมายกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการทำลายป่าแทบจะไม่มีเพราะป่าสร้างรายได้ให้คน ดังนั้นคนจึงต้องรักษาป่าไว้ให้ดีที่สุด พูดได้ว่าป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุประสบความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนโดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนโดยประชาชนมีส่วนร่วมในพื้นที่อื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249