กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าสัตว์เลี้ยงภายในตลาดนัดจตุจักร พร้อมมอบนโยบายให้จัดระเบียบโดยขึ้นทะเบียนผู้ค้าสัตว์เลี้ยงและ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกและการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงก่อนนำมาจำหน่าย หลังพบผู้ค้าสุนัขเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ด้านรองผู้ว่าฯ กทม. เผยเตรียมจัดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมว ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครตลอดทั้งเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยแพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าสัตว์เลี้ยงภายในตลาดนัดจตุจักร หลังพบข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งประกอบอาชีพเสริมเป็นผู้ค้าสุนัข เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังพบผู้ค้าสุนัขภายในตลาดนัดจตุจักรเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เกรงจะทำให้ตลาดนัดซบเซา จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ค้าสัตว์เลี้ยงนำสุนัขและแมวที่มีอายุมากกว่า 3 เดือนมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าบริการ ที่บริเวณหน้ากองอำนวยการตลาดนัดจตุจักร โดยสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะได้รับใบรับรองสีเหลืองพร้อมปลอกคอ จากกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเชื่อมั่นให้กับประชาชนแะลดความตื่นตระหนกจากสถานการณ์ที่เกิด ขึ้น
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถนำสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้มารับการฉีดวัคซีนที่ตลาดนัดจตุจักรได้เช่นกัน พร้อมเตรียมตรวจสอบใบอนุญาตประกอบการค้าสัตว์ของผู้ค้าภายในตลาดนัด หากพบว่าร้านใดไม่มีใบอนุญาตจะชะลอการจำหน่าย และขอให้ประชาชนเลือกซื้อสัตว์เลี้ยงจากร้านที่มีใบรับรองเท่านั้น
แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากที่ได้มอบหมายให้ "สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข" จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน และพบร้านค้าสัตว์เลี้ยงของผู้เสียชีวิตมีชื่อว่า "เทคแคร์ เพ็ท ช็อป" (Take Care Pet Shop) ตั้งอยู่ภายในตลาดนัดจตุจักร โครงการ 15 ซอย 10/5 และภายในบ้านพักของผู้เสียชีวิตมีสุนัขป่วยและเสียชีวิตไปหลายตัวแล้วนั้น
ล่าสุดได้รับแจ้งจากประชาชนจำนวน 2 รายผ่านสายด่วน กทม. 1555 ว่า ซื้อสุนัขจากร้านค้าของผู้เสียชีวิต โดยจะเร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและนำลูกสุนัขที่ซื้อไป กลับมากักดูอาการ และขยายวงกว้างในการควบคุมโรคครอบคลุมพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากตลาดนัดจตุจักร โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้จะประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหามาตรการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในร้านค้าสัตว์เลี้ยงนอกเหนือจากตลาดนัดจตุจักรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีการค้าสัตว์เลี้ยงในห้างสรรพสินค้าและพื้นที่อื่นด้วย
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ "สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข" เร่งฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขเลี้ยงและสุนัขจรจัดทั่วกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากขณะนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูร้อนที่อาจส่งผลต่อการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้กว่า 400,000 โด๊ส เพื่อให้บริการแก่ประชาชนตามโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมวโดยไม่เสียค่าบริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ตลอดทั้งเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ จึงขอความร่วมมือจากเจ้าของสุนัขและแมวร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากกรุงเทพมหานคร ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงของตนมารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยพร้อมเพรียงกัน
สัตวแพทย์หญิงจันทรา สิงห์ชัย ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ชี้ให้เห็นถึงตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้สัตว์ป่วยตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวแล้วก็ตาม ได้แก่ สถานที่และอุณหภูมิในการเก็บรักษาวัคซีน ซึ่งตามปกติต้องเก็บไว้ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิ 4-6 องศาเซนติเกรด มิฉะนั้นจะทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพและไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงได้ รวมทั้งสุขภาพของสัตว์เลี้ยงขณะรับการฉีดวัคซีนต้องมีสุขภาพแข็งแรงเพียงพอที่วัคซีนจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้
สำหรับอาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในสัตว์นั้นสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสัตว์ โดยสัตว์อาจมีอาการตื่นเต้นผิดปกติหรือเซื่องซึมลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเชื้อไวรัสที่เดินทางผ่านระบบประสาทภายในร่างกายไปถึงระบบสมองจึงจะปรากฎอาการของโรค ซึ่งระยะสุดท้ายขาและลิ้นของสัตว์จะแข็งตึงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวและกลืนอาหารได้จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด
ระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อโรคนี้อาจใช้เวลา 1 สัปดาห์ถึง 6 เดือน ขี้นอยู่กับบริเวณบาดแผลที่ได้รับเชื้อโรคว่าอยู่ใกล้หรือไกลจากระบบสมองมาก น้อยเพียงใด รวมทั้งลักษณะความกว้างของบาดแผลที่จะส่งผลต่อการรับปริมาณของเชื้อโรค ทั้งนี้ เมื่อคนหรือสัตว์ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วมักจะเสียชีวิต จึงควรป้องกันโรคดังกล่าวด้วยการรับการฉีดวัคซีนอย่างถูกวิธี (ท่านสามารถอ่านบทความความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ได้ที่ www.vphbma.com)
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ยังได้กล่าวเตือนถึงผู้ที่ฉีดวัคซีนเองโดยที่มิได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องตระหนักถึงตัวแปรสำคัญดังกล่าว หากพบอาการผิดปกติอย่างใดแม้เพียงเล็กน้อยต้องนำสัตว์เลี้ยงไปรับการตรวจรักษาจากสัตวแพทย์ทุกครั้ง และขอให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงของตนไปรับการฉีดวัคซีนจากนายสัตวแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์เท่านั้น
สำหรับกรณีข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งประกอบอาชีพเสริมเป็นผู้ค้าสุนัขเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากถูกสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ที่รับมาจากฟาร์มสุนัขในจังหวัด เชียงใหม่เพื่อนำมาจำหน่ายกัด "สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข" โดย "กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า" ได้เข้าตรวจสอบบ้านพักของผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนำสุนัขเลี้ยงภายในบ้านหลังดังกล่าวทั้ง 5 ตัว ประกอบด้วยสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ เพศเมีย อายุ 3 ปี จำนวน 1 ตัว สุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล เพศผู้ อายุ 4 ปี จำนวน 1 ตัว สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เพศเมีย อายุ 2 เดือน จำนวน 2 ตัว และสุนัขพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด เพศผู้ อายุ 2 เดือน จำนวน 1 ตัว ไปกักกันเพื่อเฝ้าดูอาการซึ่งสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่ "ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัด" เป็นเวลา 6 เดือน ในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเลือดตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหากพบว่าติดเชื้อโรคดังกล่าวจะดำเนินการทำลายทิ้งทันที เพื่อป้องกันมิให้ติดต่อไปยังสัตว์ตัวอื่นหรือติดต่อมาสู่คน
นายอรุณ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (ตลาดนัดจตุจักร) กล่าวถึงมาตรการใหม่ในการจัดระเบียบการค้าสัตว์เลี้ยงภายในตลาดนัดจตุจักรว่า ปัจจุบันมีร้านค้าสัตว์เลี้ยงที่ลงทะเบียนในโครงการ 15 จำนวน 200 กว่าร้านและกระจายอยู่ในโครงการอื่นๆ โดยภายหลังการหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขแล้ว ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการจัดระเบียบการค้าสัตว์เลี้ยง ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบว่าผู้ค้าสัตว์เลี้ยงได้รับการอนุญาตให้ค้าสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ หรือไม่
2. กำหนดให้ผู้ค้าสัตว์เลี้ยงต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสัตว์เลี้ยง ที่จะนำมาจำหน่ายภายในตลาดนัดจตุจักร รวมถึงต้องจัดทำบันทึกชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสุนัขให้ชัดเจน
3. ตลาดนัดจตุจักรจะเรียกประชุมผู้ค้าสัตว์เลี้ยงทั้งหมดในโครงการ เพื่อทำความเข้าใจและตระหนักถึงการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสัตว์เลี้ยงที่จะนำมาจำหน่ายภายใน ตลาดนัดจตุจักรเพื่อจะสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของสัตว์เลี้ยงและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดซ้ำรอยได้
4. ห้ามมิให้ค้าสัตว์เลี้ยงบนทางเท้าภายในตลาดนัดจตุจักรอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ หากพบสัตว์เลี้ยงสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้แจ้ง "สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข" โทรศัพท์ 0-2245-3311 หรือ สายด่วน กทม. 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอรับบริการจากหน่วยฉุกเฉินควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการจับสุนัขออกจากพื้นที่ในทันที
สำหรับผู้ที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน และไม่ทราบประวัติหรือไม่มั่นใจในความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงตัวดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์และขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 68 แห่ง โดยไม่เสียค่าบริการ
ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุด
เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (http://www.vphbma.com/)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022453311 vphbma.com