กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--เเบรนด์คอม คอนซัลเเทนส์
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยตื่นตัวพัฒนาศักยภาพรับภาวะการแข่งขันและโอกาสทางการค้าที่เปิดกว้างขึ้นหลังข้อตกลงเขตการค้าเสรีหลายฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ล่าสุดสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทยเผย “โครงการพัฒนาผ้าผืน/เสื้อผ้าสำเร็จรูปสู่ตลาดญี่ปุ่น ภายใต้กรอบ JTEPA” มีความคืบหน้าไปมาก มั่นใจพร้อมนำนวัตกรรมผ้าผืนและเสื้อผ้าไปอวดโฉมในงาน BIFF&BIL 2010 ในเดือนเมษายนนี้แน่นอน
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น (JTEPA) เริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงกลางปี 2552 เป็นต้นมา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนใหญ่จาก กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy of Trade and Industry - METI) ประเทศญี่ปุ่น พร้อมจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งด้านการตลาด โอกาส จุดแข็ง จุดอ่อน แนวโน้มแฟชั่น และเทคนิคการผลิต ประกอบด้วย นายชิเงรุ ฟุรุมิยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจาก สมาคมผู้นำเข้าสิ่งทอญี่ปุ่น (Japan Textile Importer Association - JTIA) ศาสตราจารย์ ทาดาโอะ ทาเคอุชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์แฟชั่น จาก Bunka Fashion Graduate University และนาย อากิโอะ ฮอมมะ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟอกย้อมและตกแต่ง (dyeing and finishing) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาดญี่ปุ่นและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามฤดูกาล ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และได้มาตรฐานที่ชาวญี่ปุ่นคาดหวังทั้งด้าน สี วัตถุดิบ การออกแบบ รูปทรง และผิวสัมผัส ทั้งนี้โครงการความร่วมมือดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบ JTEPA”
นายจำนงค์ นวสมิตวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และผู้จัดการโครงการพัฒนาผ้าผืน/เสื้อผ้าสำเร็จรูป ภายใต้กรอบความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น (JTEPA) กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการว่า “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการผลิตผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นในฤดูกาล Spring/Summer 2011 โดยเน้นเสื้อผ้าประเภท เสื้อผ้าลำลองสำหรับลูกค้าตลาดบน (High Grade Casual Wear) ทั้งนี้มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 12 บริษัท แบ่งเป็น โรงงานผ้าผืน 6 บริษัท โรงงานฟอกย้อม 3 บริษัท และโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป 3 บริษัท ระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 และจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2553นอกจากนี้ยังจะนำตัวอย่างผ้าและเสื้อผ้าที่ได้จากโครงการไปจัดแสดงที่ Japan Pavilion ในงาน BIFF&BIL 2010 ในเดือนเมษายน 2553 อีกด้วย โดยขณะนี้ Bunka Fashion Graduate University ของญี่ปุ่นได้นำผ้าผืนที่ได้จากโครงการไปให้ดีไซน์เนอร์ของสถาบัน ออกแบบและผลิตเสื้อผ้าเพื่อนำมาแสดงในงาน รวมประมาณ 20 ชุดด้วยกัน และยังจะมีการจัดแสดงแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่นใน Japan Pavilion ดังกล่าวด้วย”
สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการเริ่มจากฝ่ายไทยได้ส่งคณะทำงานเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาตลาดและหาเสื้อผ้าตัวอย่างตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นในเดือน กรกฎาคม 2552 ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาเยี่ยมชมโรงงานของไทย ได้แก่ โรงทอ โรงย้อม และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และมีการทดลองพัฒนาผ้าผืนร่วมกันระหว่างโรงทอและโรงย้อมให้ได้ผ้าตัวอย่าง จากนั้นส่งต่อไปให้โรงงานตัดเย็บทำการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าตามแนวคิดที่ผู้เชี่ยวชาญให้ไว้เป็นแนวทาง ทั้งนี้การพัฒนาจะอยู่ภายใต้แนวคิดพื้นฐาน (Natural Mind) ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยมีอิสระในการออกแบบและสร้างสรรค์ให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
นายชิเงรุ ฟุรุมิยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจาก สมาคมผู้นำเข้าสิ่งทอญี่ปุ่น (Japan Textile Importer Association - JTIA) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวโน้มแฟชั่นในตลาดญี่ปุ่นขณะนี้ว่า “เสื้อผ้าที่ขายดีมากในญี่ปุ่นกลับไม่ใช่เฉพาะที่ทำจาก Cotton 100% เท่านั้น แต่เป็นผ้า Tencel ที่มีเส้นใยผสมกันมากกว่า 2 ชนิด เช่น Tencel/Modal เนื่องจากลักษณะของภูมิอากาศที่ร้อนและชื้นมากของญี่ปุ่น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรศึกษาตลาดญี่ปุ่นอย่างละเอียด ประเภทที่น่าสนใจคือ เสื้อผ้าลำลองที่มีคุณภาพสูงกว่าปกติ (High Grade Casual Wear) สินค้าในตลาดญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะดูเรื่องแนวโน้มแฟชั่นเป็นสำคัญแล้ว เรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี การหดตัว และการเปลี่ยนรูปร่างของเสื้อผ้าก็เป็นจุดที่สำคัญและต้องระวังมากเช่นกัน
“ความท้าทายในการเจาะตลาดญี่ปุ่นอีกด้านหนึ่ง คือ การสั่งซื้อลอตเล็กๆ แต่เน้นเรื่องราคาและคุณภาพสูงเช่นเดียวกับลอตใหญ่ๆ อีกทั้งมาตรฐานต่างๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่มากมาย หากสินค้าใดทดสอบแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ จะไม่สามารถวางขายในตลาดญี่ปุ่นได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ควรทดลองผลิตหลายๆ รูปแบบ หลายๆ ตัวอย่าง ต้องเก็บข้อมูลก่อนการผลิต ระหว่างการผลิต และหลังการผลิตไว้สำหรับการเจรจาตกลงกัน รวมทั้งศึกษาตลาดและเทรนด์ให้ถี่ถ้วน”
ศาสตราจารย์ ทาดาโอะ ทาเคอุชิ ผู้เชี่ยวชาญจาก Bunka Fashion Graduate University แนะนำว่า “เทรนด์ในตลาดญี่ปุ่นสำหรับปี 2010 และ 2011 จะเป็นแนวคลาสสิกและธรรมชาติ (Origin & Natural) และผิวสัมผัสที่อ่อนนุ่ม บางเบา อาจเพิ่มความหรูหราหรือลูกเล่นโดยการปักหรือแต่งเสริมให้เสื้อผ้ามีความน่าสนใจขึ้น เป็นต้น แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ลูกค้าญี่ปุ่นยังคงต้องการสินค้าคุณภาพสูง”
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “นอกจากประโยชน์ด้านการพัฒนาผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกตลาดญี่ปุ่นและนำไปจัดแสดง ในงาน BIFF&BIL 2010 แล้ว ผลพลอยได้จากโครงการนี้ในส่วนที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือ ASEAN — Japan Comprehensive Economic Partnership (AJCEP) ก็คือ ไทยสามารถส่งผ้าที่พัฒนาและผลิตได้ไปตัดเย็บในประเทศกลุ่มอาเซียนเพื่อส่งต่อไปยังตลาดญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งช่วยขยายช่องทางและเพิ่มมูลค่าการส่งออกสิ่งทอไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในทางอ้อม”
ทั้งนี้ ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการนี้ จะนำไปจัดแสดงใน Japan Pavilion ภายในงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง (BIFF & BIL 2010, ASEAN Integration Textiles-Apparel-Leather) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 4 เมษายน 2553 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
BIFF & BIL 2010, ASEAN Integration Textiles-Apparel-Leather จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Look East” เพื่อแสดงถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นของอาเซียน ครบครันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้ากับความร่วมมือระดับภูมิภาค หรือ ASEAN INTEGRATION โดยมีกิจกรรมเด่นในงาน ได้แก่ การประชุม-สัมมนา Asian Designer Congress การประกวด Thailand Designer Contest แฟชั่นโชว์ 48 โชว์ และพื้นที่จัดแสดงพิเศษ อาทิ ASEAN Pavilion, Japan Pavilion เป็นต้น อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.biffandbil.com หรือ www.depthai.go.th
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท เเบรนด์คอม คอนซัลเเทนส์ จำกัด
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ งาน BIFF & BIL 2010 กรมส่งเสริมการส่งออก
ไพลิน บูรณะมิตรานนท์ / เสาวรินทร์ ทองทัศน์ / ปณิธาน ชุ่มเชื้อ
โทร 02-642-9620 (12 คู่สาย) แฟกซ์ 02-642-9688