กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
นายวสันต์ มีวงษ์ รองโฆษกกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีนายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ และนายการุณ โหสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงเกี่ยวกับโครงการเช่าระบบและพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ ของสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ไม่โปร่งใสและเอื้อประโยชน์ต่อบางบริษัท ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่กทม. ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 งบประมาณ 939 ล้านบาท โดยการเช่าคอมพิวเตอร์จำนวน 25,000 เครื่อง ซึ่งกทม. ได้ลงประกาศทางเว็บไซต์ของกทม. และเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง 6 ครั้ง เนื่องจากการมีการปรับขอบเขตงานหรือ TOR ทุกครั้งที่มีการร้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมาข้อร้องเรียนทุกข้อ คณะกรรมการกำหนดขอบเขตงานได้นำมาพิจารณาและปรับปรุงตลอด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นกลาง และเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ประเด็นที่มีผู้ร้องเป็นประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) 1956 เพียงมาตรฐานเดียว เนื่องจากหากใช้ มอก.1561 ด้วย ก็จะมีผลิตภัณฑ์เพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่มีคุณสมบัติตาม TOR ดังนั้นหากเลือกใช้ มอก.1956 เพียงมาตรฐานเดียว ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทถึง 15 บริษัทสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่น เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ใช้ มอก.1956 เช่นกัน
นายวสันต์ กล่าวว่า หากผู้ใดมีข้อมูลหรือหลักฐานใดที่ระบุถึงความผิดปกติในโครงการนี้ ก็สามารถนำข้อมูลเข้ามาแสดงได้ เพราะที่ผ่านมาถือเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีข้อมูลยืนยัน และทำให้สังคมเกิดความสับสน ประกอบกับโครงการดังกล่าวเกิดความล่าช้ามาแล้วถึง 2 ปี ส่งผลให้เด็กนักเรียนเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนความคืบหน้าของโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติของ 2 บริษัทที่ยื่นประกวดราคา คือ บริษัทเอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) และบริษัทสงขลา ฟินิชชิ่ง จำกัด คาดว่าจะประกาศผู้มีสิทธิในวันที่ 2 มีนาคมนี้ และหากเหลือเพียงบริษัทเดียวที่มีคุณสมบัติครบ ก็จะต้องยกเลิก พร้อมเปิดการประกวดราคาใหม่อีกครั้ง