เตือนคนกรุงระวังภัยและโรคในหน้าแล้ง

ข่าวทั่วไป Monday February 22, 2010 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมแจงแผนปฏิบัติการดูแลพื้นที่เกษตรและน้ำประปาเข้าไม่ถึง มอบสำนักงานเขตสำรวจแหล่งน้ำสำรอง กำหนดจุดจ่ายน้ำดื่ม น้ำใช้ รถน้ำพร้อมใช้งานประจำพื้นที่ พร้อมวอนให้เกษตรกรรมลดการปลูกข้าวนาปรังและปลูกพืชน้ำน้อยทดแทน ขณะเดียวกันแจ้งเตือนประชาชนระวังเหตุไฟไหม้หญ้า และโรคภัยที่มากับหน้าร้อน หากประชาชนประสบภาวะขาดแคลนน้ำรีบแจ้งเขตพื้นที่ หรือโทร. 1555 พบเหตุไฟไหม้ โทร. 199 ตลอด 24 ชั่วโมง นายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาธารณภัย กทม. แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2553 ซึ่งกทม. ได้จัดทำแผนในการปฏิบัติภารกิจเพื่อลดพื้นที่เกิดภัยแล้ง และลดระดับความรุนแรงของความแห้งแล้ง พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสำรองน้ำ รวมทั้งใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เนื่องจากในช่วงเดือน ก.พ. — พ.ค. ของทุกปีซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง พื้นที่เขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำประปายังเข้าไปไม่ทั่วถึง จำนวนทั้งสิ้น 11 เขต ประกอบด้วย มีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง หนองจอก บางขุนเทียน บางบอน ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา จอมทอง ราษฎร์บูรณะ และทุ่งครุ มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การเกษตร การปศุสัตว์ อีกทั้งสภาพอากาศแห้งแล้งในช่วงดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ตั้งศูนย์ฯ ภัยแล้ง กทม. และศูนย์ปฏิบัติการภัยแล้งระดับเขต นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า กทม. ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ ณ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซ.พหลโยธิน 6 เขตพญาไท โทร. 0 2270 0889 ทำหน้าที่กำหนดมาตรการ ประมวลผล และรวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ และประสานการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานภายนอก อาทิ ประสานการประปานครหลวงแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนโดยไม่คิดมูลค่า พร้อมทั้งจัดตั้งกองอำนวยการร่วมส่วนหน้า ณ พื้นที่เขตที่เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรง เพื่อจัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ รถบรรทุกน้ำ รถดับเพลิงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขต พร้อมกันนี้ กทม. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขต จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับเขต ณ สำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อเป็นหน่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและสนับสนุน พร้อมทั้งกำหนดจุดจ่ายน้ำดื่ม น้ำใช้ ตรวจสอบคูคลอง แหล่งน้ำ บ่อน้ำบาดาลให้อยู่ในสภาพใช้การได้ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในการระงับอัคคีภัย เช่น ถังดับเพลิงในชุมชน รถน้ำ เครื่องสูบน้ำชนิดหาบหาม ตลอดจนการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดอัคคีภัยและเส้นทางเข้าออกชุมชน แหล่งน้ำและหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ประปาหัวแดง ให้พร้อมใช้งานเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย มอบหมายหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมสนับสนุนการช่วยเหลือ นอกจากนี้กทม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เฝ้าระวังเหตุอัคคีภัย โดยเฉพาะไฟไหม้หญ้าในหน้าแล้ง และเตรียมเจ้าหน้าที่ระงับเหตุอัคคีภัยตลอด 24 ชั่วโมง สำนักการโยธา ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ล้มจากพายุลมแรงในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร สำนักการระบายน้ำ ประสานกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานในการผันน้ำเข้าคูคลอง เพื่อการเกษตรกรรม การปศุสัตว์และการคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งการป้องกันน้ำเค็ม สำนักพัฒนาสังคม ประสานสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานครและปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การฝึกอาชีพแก่ผู้ใช้แรงงานที่เดินทางมาหางานทำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม สนับสนุนรถบรรทุกน้ำพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ที่จำเป็น สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย จัดเตรียมยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้ความช่วยเหลือประชาชน และควบคุมโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรังเสี่ยงขาดน้ำ สำหรับกทม. มีพื้นที่เกษตรกรรม จำนวนทั้งสิ้น 174,867 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ทำนา 138,782 ไร่ พืชผัก 5,005 ไร่ สวนผลไม้ 22,268 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ 5,745 ไร่ และไร่หญ้า 3,067 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังซึ่งแต่ละปีสามารถเพาะปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ทั้งนี้กรมชลประทานขอให้งดการทำนาปรังเพิ่ม และงดทำนาปรังครั้งที่ 2 ในช่วงที่ประสบภาวะภัยแล้ง เนื่องจาก กรมชลประทานได้กำหนดแผนในการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับการปลูกข้าวนาปรัง 71,100 ไร่ แต่ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 101,880 ไร่ ประกอบกับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณลดลง ดังนั้นกรมชลประทานจะสนับสนุนน้ำเฉพาะการทำนาปรังครั้งที่ 1 โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยทดแทน เช่น พืชตระกูลถั่ว ถั่วเขียว ถั่วลิสล ข้าวโพดหวาน ข้าวฟ่าง งา มันแกว แตงโม พริก หอม กระเทียม เป็นต้น แนะประชาชนระวังโรคหน้าร้อน นอกจากนี้ นายยุทธศักดิ์ ได้แนะนำวิธีป้องกันตนเองจากโรคในช่วงหน้าร้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคระบาดที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน อาทิ ไม่รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารพิษ ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ส่วนน้ำดื่มและนมให้สังเกตวันหมดอายุของสินค้า ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนปรุงอาหารและรับประทานอาหาร หมั่นออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 30 นาที หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หากจำเป็นขอให้ดื่มน้ำสะอาดเย็นๆ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน ทั้งนี้หากประชาชนต้องการขอรับการสนับสนุนน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร การรักษาโรคที่มากับหน้าร้อน แจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือโทร 1555 กรณีพบเห็นเพลิงไหม้ โทร. 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ