ก.ล.ต. เชื่อมั่นเห็นการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนสำเร็จตามแผนในปี 2558

ข่าวทั่วไป Monday February 22, 2010 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ก.ล.ต. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประธานกลุ่ม ก.ล.ต. อาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) กล่าวในงาน The Banker’s Finance Thailand Conference เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า แผนพัฒนาตลาดทุนไทยเป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิบัติการ สู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน (the pan-ASEAN Capital Market Implementation Plan) และเชื่อมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้เนื่องจากการสนับสนุนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช ผ่านคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยและเวทีที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ตามลำดับ ในแผนปฏิบัติการสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน กฎเกณฑ์การกำกับดูแลของแต่ละประเทศจะได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกันและยกระดับเข้าสู่มาตรฐานสากลทีละขั้น แผนดังกล่าวได้กำหนดกรอบระยะเวลาและขั้นตอนที่แต่ละประเทศต้องปฏิบัติอย่างชัดเจนจนถึงปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป้าหมายเมื่อถึงเวลานั้นคือการได้เห็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ “ASEAN Economic Community” การเชื่อมโยงตลาดทุนจะช่วยให้ภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนสามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอื่นได้ ทำให้ตลาดของกลุ่มอาเซียนเป็นที่ยอมรับในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก โดยมีสินค้าอาเซียนเป็นอีก asset class หนึ่งที่น่าสนใจ และตลาดทุนของแต่ละประเทศไม่ถูกลดบทบาท นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนมีทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถขยายธุรกิจและพอร์ตการลงทุนระหว่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญผู้ลงทุนไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มและนอกกลุ่มอาเซียนจะได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรฐานเดียวกันที่เป็นระดับสากล การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนจะไม่สามารถสำเร็จได้หากไม่มีแผนพัฒนาตลาดทุนไทยให้การสนับสนุน การขจัดการผูกขาดในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์และการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ตลาดทุนสามารถเชื่อมโยงถึงกัน พร้อมไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และยกระดับการกำกับดูแลสู่มาตรฐานสากล ซึ่งแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ปี 2553 — 2557 ได้กำหนดเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นมาตรการหลัก ความท้าทายของแผนปฏิบัติการสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ได้แก่ 1. การตอบรับของตัวกลางในตลาดทุน ผู้ประกอบธุรกิจบางรายอาจเห็นว่าเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ข้ามพรมแดน แต่บางรายที่ไม่ได้วางแผนเตรียมการไว้อาจเห็นว่าตนจะเสียประโยชน์ และบางรายอาจต้องการให้รัฐบาลช่วยปกป้องจากการแข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศ 2. การโน้มน้าวหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งรวมถึงมาตรการภาษีและการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน 3. การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดในคดีอาญาข้ามประเทศ ซึ่งต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่ และ 4. การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของบุคลากรในธุรกิจการเงินข้ามประเทศ รวมทั้งมาตรฐานการบัญชี การตรวจสอบบัญชี การประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อให้สามารถยอมรับระหว่างกันได้ “ผมมีความเชื่อมั่นว่า แผนปฏิบัติการสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะแผนการทุกอย่างมีความชัดเจนและได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งทุกความก้าวหน้าที่สำคัญของแผนจะมีการรายงานต่อรัฐมนตรี” นายธีระชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ