กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม. ประชุมร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า เตรียมออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนและทำหมันทั่วกรุงเทพฯ ในเดือน มี.ค. โดยตั้งเป้าอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะปลอดโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมแนะซื้อสัตว์เลี้ยงในร้านค้าที่มีใบอนุญาตเท่านั้น
แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมร่วม 3 หน่วยงานระหว่างกรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทาง แก้ไขปัญหาพิษสุนัขบ้า
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันจัดหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขบ้านและสุนัขจรจัดทั่วกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยกรมปศุสัตว์จะส่งสัตวแพทย์ จำนวน 60 นาย ลงพื้นที่ร่วมกับสัตวแพทย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 25 คน เพื่อทำการฉีดวัคซีนและทำหมันให้กับสุนัขรวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ โดยเน้นการให้บริการในสถานที่ที่มีสุนัขจรจัด เช่น ศาสนสถาน สถานศึกษา และตามแหล่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการอย่างเข้มข้นทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขตตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมเป็นต้นไป
โดยทั้ง 3 หน่วยงานได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า ภายในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการกำหนดแผนแบ่งเขตควบคุมโรคเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ A จะไม่มีการติดโรคทั้งคนและสัตว์ในเวลา 2 ปีติดต่อกัน สำหรับระดับ B และ C ก็จะมีความรุนแรงลดหลั่นกันไป ทั้งนี้เพื่อเลื่อนระดับให้ทุกเขตปราศจากโรคพิษสุนัขบ้า ขณะที่แผนการป้องกันระยะสั้น กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกทม. ในการส่งบุคลากรเข้าร่วมปฏิบัติงาน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความร้ายแรงของโรคดังกล่าว เพื่อให้ทุกพื้นที่ปราศจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเด็ดขาด
ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั้งประเทศ 24 ราย เป็นผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ จำนวน 7 ราย ส่วนในปีนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวแล้ว ทั้งสิ้น 7 ราย เป็นผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ จำนวน 3 ราย โดยมีสาเหตุจากการถูกสุนัขกัด ซึ่งผู้เลี้ยงสุนัขรวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยแจ้งเตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยงและผู้ค้าด้วยว่าการฉีดวัคซีนด้วยตนเองนั้น มีความผิดตามกฎหมาย พร้อมแนะผู้ซื้อสัตว์เลี้ยงให้เลือกซื้อสัตว์จากร้านค้าที่มีใบอนุญาตค้าสัตว์และขอใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือบัตรประจำตัวสัตว์ที่ระบุรหัสประจำร้านค้าทุกตัว เพื่อให้สามารถตรวจเช็คประวัติของสัตว์ดังกล่าวได้