กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด
ไปกินข้าวปุ้นฟรีทั้งเมือง และสัมผัสวัฒนธรรมของคนอีสาน ในงานบุญผะเวดที่ร้อยเอ็ด
งานบุญผะเหวด หรือ งานบุญพระเวส นิยมกระทำกันในเดือนสี่ สำหรับในภาคอีสานท้องถิ่นที่มีการจัดงานบุญผะเหวดจนเป็นที่เลื่องลือ คือ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับ ททท. ได้นำเอางานประเพณีงานบุญผะเหวดมาพัฒนา ฟื้นฟูให้เป็นงานใหญ่ และจัดให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตั้งแต่ปี พ.ศ . 2534 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดเอาวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี จัดให้มีงานขึ้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด บริเวณหน้าบึงพลาญชัย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด สำหรับในปีนี้จังหวัดร้อยเอ็ด กำหนดจัดให้มีงานบุญผะเหวดขึ้นระหว่างวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ 5-6-7 มีนาคม 2553
จังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้มีงานบุญผะเหวดประจำปี 2553 ขึ้นณ บึงพลาญชัย - บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมประเพณี การจัดงานบุญเดือนสี่ หรืองานบุญผะเวดในฮีต 12 ของชาวไทยภาคอีสานให้คงอยู่สืบไป และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ ชื่อเสียง แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในงาน ตลอดทั้ง 3 วัน จะประกอบด้วย ในวันที่ 5 มีนาคม ช่วงบ่ายจะมีพิธีอัญเชิญพระอุปคุตแห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ส่วนในช่วงเย็นจะมีการแสดงแสง-สี-เสียง และศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของท้องถิ่น จากวิทยาลัยนาฎศิลป์ร้อยเอ็ด ณ เวทีภายในเกาะกลางบึงพลาญชัย ในวันที่ 6 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ก็จะมีพิธีเปิดงานด้วยขบวนแห่ตำนานเวสสันดร ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดร พระนามของพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย ก่อนที่จะประสูติมาเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีด้วยกัน 13 ขบวน โดยจะมีการตกแต่งอย่างสวยงาม พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ก็จะมีการจัดซุ้มของชาวคุ้มวัดอำเภอ กิ่งอำเภอ ส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน นักท่องเที่ยวได้รับประทานฟรีตลอดงานตามประเพณีโบราณสืบต่อกันมา และการแสดงเป่าโหวด, การเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน ส่วนในวันสุดท้ายของงาน คือวันที่ 7 มีนาคม จะมีการแห่ข้าวพันก้อนตั้งแต่เช้ามืด, การทำบุญตักบาตร, การแสดงเทศน์มหาชาติ โดยพระนักเทศน์ชื่อดัง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น, การแห่ต้นเงิน หรือต้นกัณฑ์จอบกัณฑ์หลอนของข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ภาคเอกชน ทั่วทั้งจังหวัด เข้ามาถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้เราก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และของดีของเมืองร้อยเอ็ด ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกชม เลือกซื้อ อีกมากมาย
*****
จังหวัดร้อยเอ็ดหรือชื่อเดิมว่าเมืองสาเกตุนคร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ 192 ตำบล 2,444 หมู่บ้าน/122 ชุมชน มีพื้นที่ 8,299 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,187,156 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพ 512 กิโลเมตร มีประชากร 1.3 ล้านคนเศษ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) จำนวน 49,564 ล้านบาท คิดเป็นลำดับที่ 6 ของภาค และลำดับที่ 38 ของประเทศ รายได้ของประชากรตามผลิตภัณฑ์มวลรวม ปี 2551 จำนวน 36,702 บาทต่อคน คิดเป็นลำดับที่ 9 ของภาค และอันดับที่ 66 ของประเทศ
ร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์จัดทำขึ้น อาทิ บึงพลาญชัยแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด, พระมหาเจดีย์ชัยมงคล อำเภอหนองพอก มหาเจดีย์ที่เชื่อว่าสวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าผาน้ำทิพย์ แหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นโบราณสถานในสมัยขอมเรืองอำนาจ คือ กู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย, กู่พระโกนา อำเภอสุวรรณภูมิ และปราสาทปรางกู่ อำเภอธวัชบุรี
จังหวัดร้อยเอ็ด มีงานประเพณีที่สำคัญงานหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์และภาคภูมิใจของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งประเพณีจัดสืบต่อกันมาช้านานแล้ว นั่นก็คืองานประเพณีบุญเดือนสี่ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “บุญผะเหวด” โดยชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ได้บรรจุเอางานบุญผะเหวดไว้ในคำขวัญ ของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ว่า “11 ประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุ ญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ ”
“บุญผะเวด” หรือ บุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ เป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งในสิบสองประเพณี ของฮีตสิบสอง (ประเพณีสิบสองเดือน) ของชาวไทยภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผะเหวด เป็นการออกเสียงตามสำเนียงของคนภาคอีสาน มาจากคำว่า “พระเวส” ในภาคกลาง ซึ่งหมายถึงพระเวสสันดร พระนามขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ พระเวสสันดร ถือว่าเป็นชาติที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นชาติที่พระองค์ได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างใหญ่หลวง
การจัดงานบุญผะเหวดของชาวภาคอีสานที่สืบต่อกันมาแต่โบราณนั้น มีกิจกรรมที่สำคัญ ๆ หลายประการ
- ประการแรก คือ การฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร หรือเทศมหาชาติ ที่มีจำนวน 13 กัณฑ์ ให้จบภายในวันเดียว เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเวสสันดร ผู้บำเพ็ญเพียรอันยิ่งใหญ่ด้วยวิธีการบริจาคทานอันยิ่งใหญ่ก่อนที่จะมาเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ชาวภาคอีสานเชื่อว่า หากได้ฟังเทศน์มหาชาติในบุญผะเหวดครบทั้ง 13 กัณฑ์ จบภายในวันเดียวจะมีบุญและผลแห่งบุญนั้นจะส่งให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุขตามพุทธคติ
- กิจกรรมสำคัญประการที่ 2 ของการทำบุญผะเหวดก็คือ พิธีการนิมนต์พระอุปคุต ซึ่งเป็นพระที่ชาวภาคอีสานเชื่อกันว่าเป็นพระผู้รักษาพิธีการจัดงานบุญผะเหวดให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และปกป้องไม่ให้มีพญามารมารบกวนได้ เพราะเชื่อว่าการทำบุญใหญ่ในแต่ละครั้งมักจะมีมารมาขีดขวาง ทำลายพิธีเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการอัญเชิญพระอุปคุตเข้าไปประดิษฐานไว้ในสถานที่จัดงาน เพื่อคุ้มครองให้งานดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย
- กิจกรรม สำคัญประการที่ 3 คือการจัดขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง กิจกรรมที่ 4 ก็คือการฟังเทศน์พระมาลัยหมื่นมาลัยแสน และการแห่ข้าวพันก้อนไปถวายพระอุปคุต และประกาศอัญเชิญให้เทวดามาชุมนุมกัน ก่อนที่จะนิมนต์พระขึ้นเทศน์มหาชาติตลอดทั้งวันจนครบ 13 กัณฑ์ ในการทำบุญ ผะเหวดของชาวภาคอีสาน สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือทำขนจีน หรือ ที่ชาวภาคอีสานเรียกว่าข้าวปุ้น และข้าวต้มมัด แจกจ่ายให้ญาติมิตร แจกผู้คนที่มาแวะเยี่ยม และนำไปทำบุญที่วัด จนเรียกกันติดปากของคนในภาคอีสานว่า “ไปกินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด”
ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด 043 515 374