กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทำงานทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ : การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ ๒๓ — ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทีมสหวิชาชีพในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุม ในวันอังคารที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลา ๑๔.๐๐ น.
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย จะเกิดในรูปแบบของการค้าประเวณี การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และการลักลอบซื้อขายเด็กทารกเป็นหลัก ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและขยายวงของการแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากคนไทยไปยังคนต่างชาติ คนไร้สัญชาติ จากเด็กหญิงและผู้หญิงไปเป็นเด็กชายและผู้ชายมากขึ้น มีวิธีการที่แยบยลจนทำให้ผู้เสียหายไม่รู้ว่าตนเองตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ยากแก่การนำไปสู่การปราบปรามและดำเนินคดีต่อนายหน้า
การดำเนินงานที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์การประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และทีมสหวิชาชีพ รวมถึงการจัดทำ MOU ในภาคต่างๆ ทำให้การดำเนินงานเกิดรูปธรรมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงได้ดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการป้องกัน โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ ความตระหนักให้ชุมชนกลุ่มเสี่ยง และสาธารณชน มาตรการคุ้มครองช่วยเหลือ ให้การช่วยเหลือทั้งคนไทย ต่างชาติ และไร้สัญชาติ อย่างรวดเร็ว มีการส่งต่อเข้ารับบริการที่เหมาะสมในที่พักพิงที่ปลอดภัย มาตรการการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย โดยการนำ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาบังคับใช้เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ และมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยการประสานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ในประเทศต้นทาง และปลายทาง ตั้งแต่การเข้าร่วมกิจกรรม โครงการกับองค์การสหประชาชาติ IOM รัฐบาลออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย และจัดทำบันทึกข้อตกลงในระดับทวิภาคีกับประเทศลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และระดับพหุพาคีกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือที่เรียกว่า COMMIT Process
ด้าน นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างศักยภาพทีมสหวิชาชีพเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นี้ เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (JICA) ระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ — ๒๕๕๗ วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทีมสหวิชาชีพในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยนำร่องที่สองจังหวัดเชียงราย และพะเยา โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของทีมสหวิชาชีพร่วมกัน ทั้งการศึกษาดูงานในประเทศญี่ปุ่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างประเทศในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ได้มีทีมสหวิชาชีพจากประเทศพม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานระหว่างกัน ทั้งในเรื่องของบทบาทหน้าที่ กระบวนการในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ทางด้านการคุ้มครอง การฟื้นฟูการส่งกลับ และการคืนสู่สังคม อันจะส่งผลให้เกิดการทำงานระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพ และเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้บริการประชาชน ณ ห้องสมุดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาคารพิชเยนทรโยธิน ชั้น ๑ ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๓๐๖ ๘๗๓๒ หรือที่ www.m-society.go.th