กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
ซีต้า อินฟอร์เมชั่น เน็ทเวิร์ค คอมพิวติ้ง หรือ ซีต้า ไอเอ็นซี กำลังดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในโครงการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ศูนย์กลางบริการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งสำหรับท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ หรือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 50 ล้านคน โดยซีต้าได้รับคัดเลือกจากกลุ่มรวมธุรกิจเอเอสไอเอส (Airports Systems Integration Specialists หรือ ASIS Consortium) ซึ่งประกอบด้วย บริษัทซีเมนส์, เอบีบี, สามารถ คอมเท็ค และ SATYUM
สัญญาดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 800 ล้านบาท และมีระยะเวลาโครงการกว่า 5 ปี โดยระยะแรกประกอบด้วยการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ workstation สำหรับใช้ในระบบศูนย์กลางบริการ (Common Use Terminal Equipment หรือ CUTE) จำนวนกว่า 600 เครื่อง และโปรแกรม Passenger Handler ซึ่งเป็นระบบ Common Language Facility ระยะต่อไปจะเป็นการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ในคีออสก์ (kiosk) สำหรับบริการตัวเอง (Common Use Self Service หรือ CUSS) ในช่วงนำร่องจำนวน 50 เครื่อง ในช่วงที่ทางท่าอากาศยานเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวและเพื่อรองรับเครื่องบินแอร์บัส A380 ต่อไป
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงเทพ ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 30 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้ในกลางปี 2549 โดยคาดว่าท่าอากาศยานแห่งนี้จะมีส่วนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ด้วยความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณปีละ 50 ล้านคน และถือเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
อาคารเทียบเครื่องบินของสนามบินสุวรรณภูมิจะติดตั้งทางเชื่อมสู่เครื่องบินจำนวน 51 จุด โดยมีประตูทางออกที่สามารถรองรับทางเชื่อมสู่เครื่องบิน (aerobridge) รุ่นแอร์บัส A380 จำนวน 4 ประตู ปัจจุบันท่าอากาศยานกรุงเทพที่ใช้อยู่สามารถรองรับเที่ยวบินกว่า 80 สายการบิน รองรับผู้โดยสารจำนวน 25 ล้านคนและสินค้าบรรทุก 700,000 ตันต่อปี
ซีต้า ไอเอ็นซีดำเนินโครงการนี้ภายใต้สัญญาช่วงกับบริษัท สามารถ คอมเท็ค หนึ่งในกลุ่มบริษัทสามารถ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบติดตั้งระบบสื่อสารไอทีและโทรคมนาคม ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินงานด้านการบริหารและบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับนานาชาติ
ในการวางระบบบริหารและสารสนเทศสนามบิน (Airport Information Management System) อันทันสมัยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซีต้าจะดำเนินการติดตั้งแพลตฟอร์มระบบ AirportConnect ซึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และระบบ PassengerHandler ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นตัวกลางที่ใช้ในการเช็คอินและลงทะเบียนขึ้นเครื่องบิน
“ซีต้าได้รับการคัดเลือกจากท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่เพราะเป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในเมืองไทยอย่างจริงจัง และสามารถรับประกันว่าจะส่งมอบเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดแก่สนามบินระดับโลกแห่งนี้ได้ตรงเวลา” นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น กล่าว
มร. รัส ลิวอิส รองประธานด้านระบบ Airport & Desktop ซีต้า ไอเอ็นซี เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และด้วยความตั้งใจที่จะนำระบบ self-service และระบบศูนย์กลางบริการในสนามบิน (common use) ที่ดีมาใช้จะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่สายการบินและผู้โดยสารได้อย่างมากทีเดียว”
“ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษามาตรฐานที่ดีในการรองรับผู้โดยสารและการให้บริการต่าง ๆ ระบบ CUTE ของซีต้าจะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้การเดินทางและการขนส่งโดยทำให้ขั้นตอนเช็คอินรวดเร็วขึ้น ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างได้ประสิทธิภาพที่สุด และยังช่วยสร้างเสริมรายได้อีกด้วย”
ระบบ CUTE ของซีต้าเป็นระบบเชื่อมโยงจากเครื่องแม่ข่ายไปสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ใช้ในสนามบินอย่างเต็มรูปแบบ (end-to-end) ช่วยให้สายการบินต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกับระบบของตนเองได้โดยผ่านแพลตฟอร์มกลางที่เป็นมาตรฐาน เครื่อง workstation ของระบบ CUTE นี้จะใช้บราวเซอร์ (browser) ที่ติดตั้งมาเป็นพิเศษในการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับการให้บริการแก่สายการบินต่าง ๆ ซึ่งซีต้านับเป็นบริษัทที่พัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ workstation ที่ผู้ใช้สามารถใช้งานร่วมกันได้เป็นรายแรก ปัจจุบันระบบ CUTE ของซีต้ามีลูกค้าใช้งานอยู่ประมาณ 285 รายในสนามบินกว่า 200 แห่งทั่วโลก และให้บริการเช็คอินผู้โดยสารกว่าปีละ 580 ล้านคน
ข้อมูลเกี่ยวกับซีต้า
ซีต้า อินฟอร์เมชั่น เน็ทเวิร์ค คอมพิวติ้ง หรือ SITA INC คือบริษัทพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารสำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศชั้นนำของโลก บริษัทเป็นผู้นำในด้านระบบคอมพิวเตอร์ศูนย์กลางบริการในสนามบินและระบบการสื่อสารระหว่างพื้นสู่อากาศของสายการบิน ตลอดจนโซลูชั่นด้านอีคอมเมอร์ซแบบครบวงจรสำหรับธุรกิจสายการบิน นอกจากนั้นยังเป็นผู้ริเริ่มในด้านเทคโนโลยีระบบควมคุมการบินอัตโนมัติ และระบบความปลอดภัยในการขนส่ง ด้วยความมุ่งมั่นในการลดต้นทุน การใช้ประโยชน์สูงสุดจากสินทรัพย์ของธุรกิจการบิน และการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้โดยสาร ซีต้า ไอเอ็นซีจึงพยายามลดขั้นตอนความยุ่งยากในการเดินทางและการขนส่งลง นอกจากนั้นซีต้ายังมีธุรกิจในเครือ อันประกอบด้วย OnAir ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาระบบบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างการบิน (in-flight mobile telephony) ที่จะเริ่มให้บริการในปี 2549 และ CHAMP Cargosystems บริษัทที่มุ่งพัฒนาด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศคลังสินค้าทางอากาศโดยเฉพาะเพียงแห่งเดียวในโลก สำนักงานใหญ่ของซีต้า ไอเอ็นซีตั้งอยู่ทีกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บริษัทมีรายได้ 642 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ ในปี 2547
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sita.aero
ข้อมูลเกี่ยวกับท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่
ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539 โดยกระทรวงคมนาคม โดยมีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ และมีแผนจะเปิดบริการได้ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2549
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokairport.org
แถลงข่าวในนาม : ซีต้า
รายละเอียดเพิ่มเติม : จุไรกาญจน์ ตระกูลเวช
(juraikarn.trakulvech@ogilvy.com)
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
โทร. 02 205 6611, 02 205 6446--จบ--