กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กับ The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) และ Waseda University (WU) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) จำนวน 220 ล้าน เพื่อการวิจัยและพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงที่ผ่านมาตรฐานโลกจากน้ำมันสบู่ดำ และการวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตน้ำมันสังเคราะห์จากกากสบู่ดำ
วันนี้ (25 ก.พ. 2553) ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีลงนามความตกลงในการทำโครงการวิจัย เรื่อง การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวลที่ไม่ใช่อาหารและการใช้งานในยานยนต์ หรือ Innovation on Production and Automotive Utilization of Biofuels from Non food Biomass Project โดย วว. ร่วมกับ สวทช. และ มจพ. กับหน่วยงานพันธมิตรในประเทศญี่ปุ่น คือ AIST และ WU ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) ณ ชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า โครงการวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทย สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันสังเคราะห์สำหรับยานยนต์จากวัตถุดิบชีวมวลที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งได้เลือกสบู่ดำเป็นวัตถุดิบในการวิจัย เป้าหมายหลักในความร่วมมือครั้งนี้ คือ
1. เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงที่ผ่านมาตรฐานโลกจากน้ำมันสบู่ดำด้วยเครื่องต้นแบบขนาด 1 ตันต่อวัน
2. เพื่อผลิตน้ำมันสังเคราะห์จากกากสบู่ดำขนาดโรงงานนำทาง
“โครงการวิจัยนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี เริ่มจากปี พ.ศ. 2553 ถึงปี พ.ศ. 2557 มีงบประมาณดำเนินการจำนวน 220 ล้านบาท ผลผลิตที่จะได้จากความร่วมมือในครั้งนี้ คือ น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันสบู่ดำที่ผ่านมาตรฐานโลก และน้ำมันสังเคราะห์จากกากสบู่ดำ ผลสำเร็จของการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนของประเทศไทยในอนาคต” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร. ธเนศ อุทิศธรรม นักวิชาการฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน วว. กล่าวเพิ่มเติมถึงกิจกรรมของโครงการวิจัยนี้ว่า จะครอบคลุมงานวิจัยด้านต่างๆ ดังนี้
1. การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีดีท็อกซิฟิเคชั่น (Detoxification) ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล
2. การวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่ได้มาตรฐานโลก
3. การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเดมิเนราไลเซชั่น (Demineralization) สำหรับการผลิตไบโอดีเซล
4. การวิจัยพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับไพโรไลซีสแบบเร็ว (Fast Pyrolyzer) และการพัฒนาไพโรไลเซอร์แบบเร็ว
5. การวิจัยพัฒนาการแยกน้ำมันและน้ำ
6. การวิจัยผลิตน้ำมันสังเคราะห์และการกลั่นแยกน้ำมัน
7. การทดสอบสมรรถนะเครื่องยนต์และมลพิษที่ปลดปล่อยจากการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและน้ำมันสังเคราะห์
8. การวิเคราะห์วงจรชีวิตของการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลและน้ำมันสังเคราะห์
9. การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและการฝึกอบรมนักวิจัยไทยในประเทศญี่ปุ่น
อนึ่ง วว. และ สวทช. ได้ร่วมกันทำโครงการวิจัยและพัฒนาไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยได้พัฒนาเครื่องบีบน้ำมันปาล์มและเครื่องมืออุปกรณ์ต้นแบบการผลิตไบโอดีเซล และยังได้ร่วมกับกรมอู่ทหารเรือและภาคเอกชนใน ปี พ.ศ.2550 นอกจากนี้ วว. และ สวทช. ยังมีความร่วมมือกับ The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น ในการวิจัยและพัฒนาด้านเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซลและการจัดทำมาตรฐานไบโอดีเซล มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547
สำหรับเทคโนโลยีไพโรไลซีสแบบเร็ว เป็นกระบวนการแปรรูปชีวมวล (หรือวัสดุเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น พลาสติก) ให้ได้ผลผลิตเป็นน้ำมันดิน (Bio-oil) มากกว่า 70% และจะนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตน้ำมันสังเคราะห์ต่อไป ซึ่งน้ำมันสังเคราะห์ที่จะผลิตขึ้นเป็นน้ำมันดีเซลและเบนซินสังเคราะห์ที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลและเบนซินที่มีขายในเชิงพาณิชย์
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน วว. โทร. 0 2577 9499, 0 2577 9496 โทรสาร 0 2577 9506 หรือที่ E-mail: tistr@tistr.or.th