กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ครั้งที่ 1/2553 ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ณ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย โดยมีนายขวัญชัย วงศ์นิติกร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยแล้งเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
นายขวัญชัย วงศ์นิติกร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 กล่าวว่า ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญ่ ทำให้ปีนี้ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง ในระดับรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกเขตชลประทานและพื้นที่แล้งซ้ำซาก ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 23 จังหวัด 173 อำเภอ 1,150 ตำบล 7,494 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 633,586 ครัวเรือน 2,250,616 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 มีหมู่บ้านประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้น 1,967 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 35.59 เพื่อให้การประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร สร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพระยะสั้น ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูร้อน รวมถึงดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนดำเนินการตามนโยบายและมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2553 โดยวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ โดยให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งกำหนดพื้นที่ทำนาปรังให้ชัดเจนและมีการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ได้มุ่งเน้นให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ รณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรให้ปลูกพืชฤดูแล้ง สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มีจำนวน 46,228 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุ น้อยกว่า ปี 2552 จำนวน 3,336 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 7 สำหรับการจัดทำฝนเทียม สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศรวม 60 จังหวัด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ได้สั่งกำชับให้จังหวัดวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ เพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปา การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ กำลังคนให้พร้อมปฏิบัติงานทันทีที่ได้รับการร้องขอ โดยขณะนี้ได้แจกจ่ายน้ำช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้วกว่า 4.6 ล้านลิตร และหากประชาชนประสบความเดือดร้อนจากภัยแล้ง สามารถประสานขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ปภ. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างครอบคลุมในทุกด้าน จึงมั่นใจได้ว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์ภัยแล้งมิให้ลุกลามขยายวงกว้างและสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งได้อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่