รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง เดือนมกราคม 2553

ข่าวทั่วไป Friday February 26, 2010 10:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง "ดัชนีเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2553 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น จากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวสูงมาก" นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2553 บ่งชี้ว่า "เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2553 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกขยายตัวเป็นบวกในระดับสูง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย และการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่มีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรที่ขยายตัวได้ดี ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ปรับตัวดีขึ้นจากอัตราการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่อง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง" นายสาธิต รังคสิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า "เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2553 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้า สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคม 2553 ที่ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 30.8 ต่อปี โดยเป็นการส่งออกปรับตัวดีขึ้นมากในหมวดสินค้าหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย และภูมิภาคเอเชีย สำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศ พบว่า การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 37.2 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนได้จากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 55.4 ต่อปี สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังมีความมั่นคงจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงาน และทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 อยู่ในระดับสูงที่ 142.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ" นายสาธิต รังคสิริ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า "การที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 จะสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ทั้งนี้ สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2553 ในวันที่ 29 มีนาคม 2553 ต่อไป" "ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม ของปี 2553 มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้ดี สำหรับการผลิตปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และภาคบริการจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ผลผลิตภาคการเกษตรเริ่มฟื้นตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง" 1. การส่งออกในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวได้ในระดับสูง และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวที่ร้อยละ 30.8 ต่อปี โดยมาจากปริมาณการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 17.7 ต่อปี ในขณะที่ราคาขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m seasonally adjusted) มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน บ่งชี้สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นของสินค้าส่งออกในแทบทุกหมวดสินค้าส่งออก และเป็นผลจากการฟื้นตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 44.8 ต่อปี ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมาจากปริมาณนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 31.1 ต่อปี ซึ่งขยายตัวในระดับสูง และราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ต่อปี ผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่เมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในแทบทุกหมวดสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบที่มีการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 77.1 ต่อปี 2. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2553 มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 37.2 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 53.2 ต่อปี สะท้อนถึงการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปรับตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m seasonally adjusted) สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เช่นกัน ขยายตัวร้อยละ 23.8 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 71.9 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 70.4 จากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจาก 1) ความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล โดยเฉพาะการขยาย 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และ 2) ราคาน้ำมันที่ทรงตัว 3. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2553 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี ซึ่งเมื่อหักรายการพิเศษ (เครื่องบิน เรือและรถไฟ) จะพบว่าขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 19.7 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน 4 เดือน ที่ร้อยละ 55.4 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 24.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.7 ต่อปี บ่งชี้การทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 115.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 113.6 แสดงถึงทิศทางการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมกราคม 2553 พบว่า ภาษีฐานการบริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนเช่นกัน โดยรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 110.1 พันล้านบาท ขยายตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 17.1 ต่อปี โดยการจัดเก็บรายได้ที่สูงขึ้นสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลของการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เบียร์ ยาสูบ และสุรา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ทั้งนี้ ภาษีฐานการบริโภคปรับตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาษีฐานรายได้หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้าสะท้อนภาวะรายได้ของภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณเท่ากับ 150.0 พันล้านบาท ซึ่งหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -22.0 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากการโอนเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 128.3 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนจำนวน 5.7 พันล้านบาทหดตัวร้อยละ -89.1 ต่อปี นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบลงทุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ (ช่วงเดือนกันยายน 2552 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2553) มีจำนวน 82,227 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.5 ของกรอบวงเงินอนุมัติ (350,000 ล้านบาท) 5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนมกราคม 2553 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการจากการท่องเที่ยวขยายตัวได้ระดับสูง ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 29.1 ต่อปี จากการขยายตัวของผลผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม การปั่นทอ เครื่องแต่งกายและเครื่องหนัง อุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m seasonally adjusted) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งแสดงถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงจากฐานที่สูงในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่เครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2553 มีจำนวน 1.65 ล้านคน หรือ ขยายตัวร้อยละ 30.2 ต่อปี ปรับตัวมาเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทุกภูมิภาคเพิ่มขึ้น สำหรับเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ผลผลิตการเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ข้าวนาปีและยางพารา สำหรับราคาสินค้าเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 20.8 ต่อปี ส่งผลทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 14.7 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2552 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี โดยมีปัจจัยหลักจากหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวสูง จากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และจากหมวดไฟฟ้า น้ำประปาและแสงสว่างที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลจากการปรับลดมาตรการช่วยค่าครองชีพ 5 มาตรการ 6 เดือนประเภทน้ำประปาของรัฐบาล สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 45.6 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 อยู่ในระดับสูงที่ 142.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ