“เชลแล็ก เคลือบผิวผลไม้” ช่วยยืดอายุ หนุนส่งออก

ข่าวทั่วไป Tuesday December 26, 2006 18:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สกว.
หนุนใช้ “เชลแล็ก”เป็นสารเคลือบผิวผลไม้ไทยส่งออก ชี้มาจากธรรมชาติปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมช่วยเพิ่มความมันวาวให้ผิวผลไม้ ดึงดูดใจผู้ซื้อ ชะลอการเหี่ยวและเปลี่ยนสีของเปลือกทุเรียน มังคุด และมะม่วง รวมทั้งช่วยลดการสูญเสียน้ำหนัก อีกทั้งผู้บริโภคยังคงพึงพอใจในรสชาติเหมือนเดิม
ผลไม้ไทย ยังเป็นที่ขึ้นชื่อในตลาด โดยเฉพาะราชาผลไม้อย่างทุเรียนและราชินีอย่างมังคุดซึ่งมีรสชาติเป็นที่ถูกใจของคนทั่วโลก อุตสาหกรรมผลไม้จึงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่อุปสรรคการส่งออกของผลไม้ไทยยังคงประสบปัญหาต่างๆ อาทิ เรื่องระยะเวลาการเก็บรักษา ซึ่งยังไม่สามารถทำได้นานเพียงพอ โครงการวิจัยเกี่ยวกับสารเคลือบผิวผลไม้ โดยความสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และบริษัท เอกเซลแลคส์ จำกัด โดยมีทีมผู้วิจัยคือ รศ.ดร.สีรุ้ง ปรีชานนท์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) รศ.ดร.นภา ศิวะรังสรรค์ (คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ดร.โศรดา กนกพานนท์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ ดร.อภิตา บุญศิริ (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) จึงมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้
รศ.ดร.สีรุ้ง ปรีชานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงวิจัยนี้ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักสองประการคือ หนึ่งเพื่อศึกษาให้ได้มาซึ่งกระบวนการผลิตสารละลายเชลแล็กในน้ำและกระบวนการเคลือบผิวผลไม้ที่เหมาะสมต่อการเคลือบผิวทุเรียน มังคุดและมะม่วง และศึกษาประสิทธิภาพของสารละลายเชลแล็กในการเคลือบผิวผลไม้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษา จากนั้นจึงเปรียบเทียบกับการใช้สารเคลือบผิวผลไม้ที่มีการผลิตเป็นการค้า และนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยงานวิจัยนี้ได้นำ เชลแล็กขาวเกรดอาหาร ซึ่งผลิตจากครั่งซึ่งเป็นเรซินธรรมชาติชนิดหนึ่ง มาทดลองใช้เป็นองค์ประกอบของสารเคลือบผิวผลไม้ และจากการศึกษาพบว่า สารละลายเชลแล็กที่ผลิตขึ้นสำหรับการใช้งานเคลือบผิวผลไม้นี้ให้ผลใกล้เคียงหรือสารเคลือบผิวทางการค้า ซึ่งมีกระบวนการผลิตคร่าวๆคือ ละลายผงเชลแล็กขาวเกรดอาหารลงในสารละลายแอมโมเนียเจือจาง โดยอาจมีการเติมสารเติมแต่งบางชนิด ซึ่งทำให้ได้ฟิล์มเชลแล็กที่สามารถให้ความมันเงาของผิวผลไม้ อีกทั้งยังไม่เกิดการชะล้างเมื่อผิวผลไม้มีหยดน้ำ โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตสารละลายเชลแล็กนี้เป็นถังกวนธรรมดาในระบบปิด ส่วนกระบวนการเคลือบผิวที่เหมาะสมสำหรับผลไม้ทั้งสามชนิดคือ วิธีการฉีดพ่นบนผิวของผลไม้นั้นๆ
รศ.ดร.สีรุ้ง กล่าวอีกว่า จากการทดลองเคลือบผิวทุเรียน มังคุด และมะม่วง ด้วยสารละลายเชลเล็กพบว่าให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยช่วยเพิ่มความมันวาวดึงดูดใจผู้บริโภค ชะลอการเหี่ยวและการเปลี่ยนสีเปลือก รวมทั้งช่วยลดการสูญเสียน้ำหนัก อีกทั้งผู้บริโภคยังคงพึงพอใจในรสชาติของผลไม้ที่ใช้สูตรสารเคลือบผิวดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ทดสอบสมบัติของสารเคลือบผิวผลไม้ดังกล่าวนั้นพบว่า มีความคงตัวและสามารถใช้งานได้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 3 เดือนทั้งที่อุณหภูมิในการเก็บรักษา 4 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิห้อง ทั้งนี้ทีมวิจัยมีแนวทางการทำวิจัยต่อเพื่อปรับปรุงสูตรสารเคลือบดังกล่าวให้ลดองค์ประกอบของเชลเล็กขาวลง เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้การนำเชลแล็กขาวเกรดอาหารมาใช้เป็นสารเคลือบผิวผลไม้ ยังคงมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคเป็นที่ยอมรับจากองค์การอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา(FDA) เนื่องจากเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติอีกด้วย
โดยความสำเร็จดังกล่าวจากงานวิจัยนี้ ยังเป็นโอกาสที่จะสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมผลไม้ไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ