กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
สศอ.เผยภาคอุตฯฟื้นจริง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก สินค้าอุตฯส่งออกคึกคัก กลุ่ม Hard disk drive —หลอดอิเล็กฯ-ยานยนต์ ยอดผลิตและจำหน่ายคึกคัก กำลังการผลิตอยู่ในระดับ 60.4% ภาพรวมทิศทางใสรับปีเสือ มั่นใจขยายตัวได้ตามเป้า 6-8%
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(ดัชนีอุตฯ) เดือนมกราคม ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.1% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก 3 เดือนติดต่อกัน (พ.ย-ธ.ค. 2552 เพิ่มขึ้น 7.5%และ30.7% ตามลำดับ) ซึ่งเป็นไปตามทิศการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ได้รายงาน โดย เดือน ม.ค.การส่งออกขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ คือ 30.8% สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 27.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าทิศทางการขยายตัวของดัชนีอุตฯ ปี 2553 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ประเมินไว้ คือ ขยายตัว 6-8% อย่างไรก็ตามจากการผลิตที่ขยายตัวในระดับสูง หากไม่มีปัจจัยอื่นมากระทบ สศอ.จะทบทวนประมาณการเพื่อปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลต่อการขยายตัวของดัชนีอุตฯ ม.ค.เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการผลิต Hard Disk Drive หลอดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โดยการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากคำสั่งซื้อกลับเข้ามาทำให้ผู้ประกอบการ เริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า ในส่วนของ Hard disk drive การผลิตและจำหน่ายเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 69.1% และ 70.6% ตามลำดับ เนื่องจากเมื่อปีก่อนเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จึงมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาเป็นจำนวนมากส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายอย่างคึกคักเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีภาวะการผลิตและจำหน่ายสูงขึ้นอย่างมาก โดยแนวโน้มของปี 2553 คาดว่ายอดการผลิตและจำหน่าย จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกให้ความเชื่อมั่น
การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 132.7%และ 123.8%ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีตัวเลขฐานการผลิตและจำหน่ายลดต่ำเป็นอย่างมาก เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจึงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายสูงมากขึ้นดังกล่าว อีกทั้งประเทศไทยมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งจึงสนับสนุนการขยายตัวอย่างมาก และคาดว่าปี 2553 จะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น 48.7%และ 61.3% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลทางการเกษตร ทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่ตลาดการส่งออกขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่าจะมียอดการผลิตและจำหน่ายเป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งตลาดรถปิ๊คอัพและตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก โดยจะมีการผลิต 1,400,000 คัน ซึ่งขยายตัวกว่า 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นไปตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่า ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 179.62 เพิ่มขึ้น 29.1% จากระดับ 139.13 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 178.50 เพิ่มขึ้น 34.6% จากระดับ 132.66 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 117.16 เพิ่มขึ้น 7.6% จากระดับ 108.89 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 140.24 เพิ่มขึ้น 12.0% จากระดับ 125.23 ขณะที่ ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 178.51 ลดลง 9.0% จากระดับ 196.17 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.4%
นอกจากนี้ นางสุทธินีย์ ยังได้กล่าวอีกว่า สัญญาณบวกของการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ระดับ 104.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.6 จุด และขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวขององค์ประกอบภายในของดัชนีชี้นำ ซึ่งได้แก่ มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีชี้นำที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น