กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สสวท.
ศ.ดร. สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท. ) แจ้งว่า ผลการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเซีย ประจำปีพุทธศักราช 2549 จำนวน 8 คน เข้าแข่งขัน ณ เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน ในวันที่ 23-30 เมษายน 2549 ได้แก่
นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายมัธยม กรุงเทพมหานคร
นายจิรพัทธ์ เทียมสุพัต โรงเรียนนครนายกวิทยาลัย จังหวัดนครนายก
นายชนปทิน ไพบูลย์พลายย้อย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
นายชานน อริยประกาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
นายธนากร เอี่ยมสระศรี โรงเรียนวัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร
นายรณชัย เจริญศรี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
นายสรวิศ แสงทวีสิน โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร
นายอำนวย พลสุขเจริญ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม
การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ เกิดจากกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งมีความคิด และความเชื่อว่า ในทุกประเทศ ย่อมมีเยาวชนผู้มีอัจฉริยะทางปัญญาอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ หากจัดให้เยาวชนเหล่านั้น มาแข่งขันกันในด้านวิชาการ เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ก็น่าจะเป็นการพัฒนาความสามารถพิเศษทางปัญญาของเยาวชน ให้มีความสามรถยิ่งๆขึ้นไป อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
จากแนวคิดดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2502 ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คณิตศาสตร์โอลิมปิกขึ้นเป็นครั้งแรก จากจุดเริ่มต้นนี้เองทำให้นานาประเทศเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการจัดการแข่งขันนี้ จึงได้จัดส่งเยาวชนของตน เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นทุกปีและได้มีการแข่งขันวิชาการต่างๆเพิ่มขึ้น คือ ฟิสิกส์ เริ่มในปี พ.ศ. 2510 เคมี เริ่มในปี พ.ศ. 2512 คอมพิวเตอร์เริ่มในปี พ.ศ. 2532 และชีววิทยาเริ่มในปี พ.ศ. 2533 และดาราศาสตร์เริ่มในปี พ.ศ. 2540 ตามลำดับ
จุดประสงค์ในการดำเนินการของโครงการนี้ ไม่ได้มุ่งหวังจำนวนเหรียญรางวัล จากการแข่งขันต่างประเทศมาเป็นเป้าหมายหลัก จุดประสงค์ที่สำคัญนั้นเป็นการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทางด้านวิชาการเพื่อให้เยาวชนไทยสนใจศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้แสดงตัว และได้พัฒนาศักยภาพของตนให้สูงยิ่งๆขึ้นไป เยาวชนเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป