กรมสุขภาพจิต จับมือ เอแบคโพลล์ เตือนผู้ปกครองใสใจเยาวชนนิยมความรุนแรง

ข่าวทั่วไป Friday June 23, 2006 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แถลงข่าว "วัยรุ่นไทยกับการใช้ความรุนแรงมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การใช้สารเสพติด การเลี้ยงดูของครอบครัว อิทธิพลของกลุ่มเพื่อน พฤติกรรมการเลียนแบบจากสื่อต่างๆ กรมสุขภาพจิต แนะ พ่อแม่ควรใส่ใจใกล้ชิดดูโทรทัศน์ร่วมกับุตรหลาน ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรดูโทรทัศน์ เพราะ รูปแบบของการรับชมสื่อโทรทัศน์ของเด็กในช่วงนี้ จะส่งผลต่อนิสัยของเด็กในอนาคต สิ่งที่สื่อนำเสนอเป็นสิ่งที่มีไว้เรียนรู้และเสี่ยง ไม่ใช่เพื่อเลียนแบบ
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงว่า การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่นไทย ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การใช้ความรุนแรงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา การทำร้ายผู้อื่น การก่ออาชญากรรมการยกพวกตีกัน การล่วงละเมิดทางเพศ ที่ปรากฎเป็นข่าวเกือบทุกวัน เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจเยาวชนไทยจะกลายเป็นกลุ่มคนนิยมความรุนแรงจนทำลายวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมไทยที่มีความเอื้ออาทรและความมีเมตตาไมตรีจิตต่อกัน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยถึงผลสำรวจ "สื่อโทรทัศน์กับการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเยาวชน : กรณีศึกษานักเรียน/นักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร" อายุระหว่าง 14 - 25 ปี จำนวน 1,569 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-21 มิถุนายน 2549 พบ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 72.1 นิยมดูโทรทัศน์ทุกวัน ร้อยละ 39.8 ใช้เวลาเฉลี่ยในการดูโทรทัศน์แต่ละครั้ง ประมาณ 3-5 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่นิยมดูโทรทัศน์มากที่สุด 20.01-22.00 น. รายการที่นิยมรับชม 5 อันดับแรก ได้แก่ ละคร ข่าว/วิเคราะห์ข่าว รายการเพลง การ์ตูน และ เกมส์โชว์ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 72.5 เห็นว่า ได้รับประโยชน์จากการติดตามชมโทรทัศน์ ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 36.8 เห็นว่าได้เห็นถึงพลังความจงรักภักดีของคนไทย ร้อยละ 92.1 ได้เห็นถึงความรักความสามัคคีของคนในชาติ ร้อยละ 86.4 ได้รับความบันเทิงร้อยละ 80.2 ได้รับข้อมูลข่าวสาร ร้อยละ 74.4 ได้รับความรู้ และ ร้อยละ 63.5 ได้หลักในการใช้ชีวิต
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 44.6 ระบุว่าเคยเห็น/ดูโทรทัศน์ที่มีภาพการใช้ความรุนแรงผ่านละคร การ์ตูน ภาพยนตร์ ภาพข่าวและโฆษณาบ่อยครั้ง โดย ร้อยละ 65.8 พบเห็นพฤติกรรมขว้างปาสิ่งของ ทำลายข้าวของทรัพย์สินให้เสียหายในระดับค่อนข้างรุนแรง ร้อยละ 54.0 เห้นพฤติกรรมการต่อสู้ทำร้ายร่างกายค่อนข้างรุนแรง และ ร้อยละ 53.2 เห็นพฤติกรรมการพูดจาหยาบคาย ด่าทอ หรือไม่ให้เกียรติคู่สนทนาค่อนข้างรุนแรง และเมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อความเหมาะสมในการกระทำที่รุนแรงตอบโต้กลับคืน ถ้าถูกรังแก หรือถูกทำร้าย กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52.0 เห็นสมควรตอบโต้กลับคืน นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.2 เคยใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้อื่นและแก้แค้นบ้างเล็กน้อยถึงไม่เคยเลย ซึ่ง ร้อยละ 22.1 เคยใช้ความรุนแรงมากถึงมากที่สุดตอบโต้ผู้อื่นและแก้แค้นผู้อื่นระดับมากถึงมากที่สุดสูงกว่าเด็กและเยาวชนที่เคยเห็นภาพความรุนแรงในโทรทัศน์บ่อยๆ นิยมใช้ความรุนแรง ตอบโต้แก้แค้นผู้อื่นระดับมากถึงมากที่สุดสูงกว่าเด้กและเยาวชนที่ไม่เคยเห็นบ่อยหรือไม่เคยเห็นเลย ร้อยละ 14.8 ต่อ ร้อยละ 9.5
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผลการวิจัยยืนยันทั้งจากในและต่างประเทศว่า สื่อมีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน ทั้งในด้านขอความรุนแรง การมีเพศสัมพันธ์ และการมีพฤติกรรมอันธพาล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดั้งนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดในการเลือกเปิดรับสื่อขอบุตรหลาน เสริมสร้างความผูกพันทางอารมณืฝึกทักษณะชีวิตด้านวินัยและการควบคุมตนเองที่ดี ไม่ประจานหรือลงโทษรุนแรงเมื่อเยาวชนแสดงออกซึ่งพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ประกอบกับ ผู้ผลิตสื่อควรมีการจัดอันดับหรือเรตติ้งรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน ก่อนเผยแพร่สู่สายตาประชาชน ทั้งนี้ เยาวชนควรต้องตระหนักถึงข้อดีข้อเสียของการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงที่ทำให้ต้องถูกตราหน้า/ปฏิเสธจากสังคม สูญเสียโอกาสที่ดีในอนาคต ตลอดจน พึงตระหนักว่าสิ่งที่พบและเห็นผ่านสื่อมีไว้เพื่อเรียนรู้และหลีกเลี่ยงไม่ใช่เลียนแบบ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โทร. 02590 8409 โทรสาร 02951 1374

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ