กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กบข.
กบข. เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 2553 ผลักดันให้ กบข. บรรลุวิสัยทัศน์สู่องค์กรต้นแบบแห่งธรรมาภิบาล (Corporate Governance) มีการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งผลประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลัก เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นการสร้างความไว้วางใจต่อ กบข. กลับคืนมา
ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยคณะกรรมการ กบข. ได้เห็นชอบ “แผนยุทธศาสตร์ปี 2553” เพื่อให้ภารกิจของ กบข.ที่มีต่อสมาชิก 1.16 ล้านคนมีประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสมาชิก และผลักดันให้ กบข. บรรลุวิสัยทัศน์อย่างเป็นรูปธรรมสู่องค์กรต้นแบบแห่งธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายการปรับภาพลักษณ์องค์กรเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและสร้างความไว้วางใจของสมาชิกและสังคมต่อ กบข.
นายสถิตย์ได้กล่าวว่า “แผนยุทธศาสตร์ปี 2553 จัดทำขึ้นตามกรอบ “แผนแม่บทปี 2552-2554” และประเมินสถานการณ์ล่าสุดที่ กบข. เผชิญในปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ และความคาดหวังของสมาชิก โดยคณะกรรมการ กบข. เห็นควรตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างผลตอบแทนการลงทุน 2.ยุทธศาสตร์การบริหารความสัมพันธ์และบริการสมาชิก 3.ยุทธศาสตร์การเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ และ 4.ยุทธศาสตร์วัฒนธรรมองค์กรและการบริหารการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแต่ละยุทธศาสตร์มีแผนปฏิบัติการที่รองรับและกำหนดเป้าหมายอันพึงวัดผลได้สำหรับการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวด้วย”
ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานว่า ยุทธศาสตร์แรกเป็นยุทธศาสตร์การสร้างผลตอบแทนการลงทุน ด้วยการสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่สมาชิกภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม เนื่องจากการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุนั้นเป็นการออมในระยะยาวเฉลี่ยคนละประมาณ 12 ปี และเนื่องจากปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนสูง ดังนั้นการลงทุนของ กบข. จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมถึงปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งการที่จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปสู่เป้าหมายได้นั้น จะต้องมีการปรับกระบวนการทำงานภายในของ กบข.ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จะต้องมีการประเมินผลและการบูรณาการยุทธศาสตร์การลงทุนทั้งแผนงานใหญ่และแผนงานย่อย โดย กบข. ยังคงเน้นการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลักและหาช่องทางการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง อีกทั้งจะต้องรักษาสมดุลของเป้าหมาย ผลตอบแทนระยะยาวกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกันไปเพื่อให้สมาชิกมีความมั่นคงทางการเงินหลังวัยเกษียณด้วย
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นยุทธศาสตร์การบริหารความสัมพันธ์และบริการกับสมาชิก โดยปรับภารกิจหลักเป็นการให้ความรู้และการสื่อสารกับสมาชิกให้ตรงกับลักษณะเฉพาะของกลุ่มสมาชิก (Segmentation) เน้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการลงทุนและการบริหารกองทุนระยะยาว และ กบข.ยังจะได้มีการจัดหาสวัสดิการใหม่ที่เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกเพิ่มเติมทั่วไปเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการให้คุณภาพชีวิตที่ดีต่อสมาชิก รวมถึงการจัดให้มีแผนการลงทุนที่สมาชิกสามารถเลือกลงทุนตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลนอกเหนือไปจากแผนการลงทุนหลักที่มีในปัจจุบัน เพื่อสร้างความพึงพอใจของสมาชิกให้มากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นยุทธศาสตร์การเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ เป็นการพัฒนากระบวนการทำงาน และการให้บริการที่มีคุณภาพต่อสมาชิก และเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร กบข. ได้มีการปรับปรุงระบบงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับระบบเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการในทุกด้าน นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปก็คือหลักการบริหารงานที่ยึดมั่นในธรรมาภิบาล จรรยาบรรณและหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องทั้งตัวองค์กรและพนักงานในทุกระดับชั้นรวมถึงการแสดงออกซึ่งการเป็นผู้นำในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่อตลาดเงินตลาดทุนทั้งในฐานะนักลงทุนสถาบันหลักของประเทศและในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ กบข. ร่วมลงทุนด้วย
ส่วนยุทธศาสตร์ด้านที่ 4 เป็นยุทธศาสตร์วัฒนธรรมองค์กรและการบริหารการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในด้านนี้จะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจของพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรบริหารเงินบำนาญในระดับสากล (High Performance Organization) ด้วยการประสานพลัง (Synergy) ในองค์กรผ่านโครงสร้างองค์กรที่มีการจัดการให้เหมาะสมกับภารกิจใหม่ และการทบทวนนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล ค่าจ้าง และค่าตอบแทน ให้สอดคล้องกับลักษณะงาน ซึ่งจะส่งผลในการผลักดัน กบข. ให้ปฏิบัติงานได้เต็มประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างมีศักยภาพตามทิศทางการดำเนินงานในอนาคต นางสาวโสภาวดี ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ในการทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ เป็นการกำหนดนโยบายและทิศทางการปฏิบัติภารกิจของทุกฝ่ายงานใน กบข. โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความพึงพอใจแก่สมาชิก กบข. ทุกคน