กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ก.พลังงาน
“กระทรวงพลังงาน” เปิดประวัติศาสตร์ความสำเร็จการผลิตน้ำมันดิบแปรรูปจากขยะพลาสติกแห่งแรกของประเทศไทยและของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมสร้างนโยบาย จูงใจประกันราคาขายให้ 18 บาทต่อลิตร เพื่อดึงศักยภาพบ่อขยะพลาสติกที่มีอยู่ ทั่วประเทศ 5 ล้านตัน และไม่ได้ใช้ประโยชน์มาผลิตเป็นน้ำมันดิบ สอดคล้องตามนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบได้ทั้งสิ้น 56,520 ล้านบาท/ปี”
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 25553 เวลา 10.00 น. นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง เทศบาลเมืองหัวหิน โดยนายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยนายวิเชียร อุษณาโชติ รองกรรมการผู้จัดการ และบริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ เอ็นเนอยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด (SPEE) โดย นางสันติวิภา พานิชกุล กรรมการบริหาร เพื่อจัดส่งน้ำมันดิบแปรรูปจากขยะพลาสติกให้กับโรงกลั่นน้ำมันบางจากฯ พร้อมทั้งทำพิธีปล่อยรถน้ำมันคันแรกจากการแปรรูปขยะพลาสติกจำนวน 30,000 ลิตรส่งไปจำหน่ายยังโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพสูงจำหน่ายเชิงพาณิชย์
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าพลังงานคิดเป็นมูลค่าเกือบ 800,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา การพัฒนาพลังงานทดแทน จึงเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพลังงาน ในวันนี้เราได้ค้นพบขุมทรัพย์ทางพลังงานที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย ขุมทรัพย์ดังกล่าวได้แก่บ่อขยะ ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันที่เรามองไม่เห็น แต่วันนี้เราสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้แล้ว ขยะพลาสติกแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณค่าได้จริง และจะเป็นพลังงานส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการนำเข้าพลังงานให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยนับว่าโชคดีมาก เพราะนอกจากจะมีพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชผลิตพลังงาน ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม สบู่ดำ เป็นต้น แล้ว ในวันนี้เรายังได้ค้นพบขุมทรัพย์ทางด้านพลังงานที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง การนำพลาสติกแปรรูปเป็นน้ำมันนับเป็นทางเลือกใหม่ในการจัดการขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเกิดผลคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยกระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญ ส่งเสริมด้วยการประกันราคาขายผ่านโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งที่ราคา 18 บาท/ลิตร เพิ่มจากราคาน้ำมันดิบดูไบ
เขตเทศบาลเมืองหัวหิน นับว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตน้ำมันดิบจากขยะได้จนประสบความสำเร็จ และพบว่าศักยภาพของพื้นที่มีบ่อขยะฝังกลบทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกประมาณ 30,000 ตัน และยังมีขยะที่เกิดขึ้นใหม่อีกวันละ 100 ตัน ดังนั้น จึงมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตน้ำมันดิบได้ ซึ่งขยะพลาสติก 30,000 ตันนี้ สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 140,000 บาร์เรล ซึ่งผมคิดว่าคงจะมีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้นต่อไปในอนาคต โดยมีเป้าหมายพัฒนาการวิจัยและผลิตเพื่อพัฒนาน้ำมันดิบจากพื้นที่แห่งนี้ต่อยอดสู่การผลิตเป็นน้ำมันดีเซลแบบครบวงจร อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นทุกภาคส่วน ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล เช่น เกาะต่างๆ ชาวประมง เกษตรกร จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจ พบว่า ประเทศไทยมีขยะฝังกลบอยู่ทั่วประเทศประมาณ 50 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก 10% หรือ 5 ล้านตันต่อปี หากสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันดิบได้จะมีปริมาณมากถึง 23.58 ล้านบาร์เรลต่อปี จะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นมูลค่า 56,520 ล้านบาท/ปี ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่รวมขยะที่เกิดขึ้นใหม่อีกประมาณ 15 ล้านตันต่อปี โดยขยะ 6-10 ตันสามารถผลิตเป็นน้ำมันดิบได้ 28-47 บาร์เรล (4,500-7,500ลิตร)
นายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวถึงโครงการนำร่องว่า “ผมเพียงต้องการแก้ปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นหัวหินของผม ถ้าเราสามารถแก้วิกฤตจากขยะพลาสติกที่ต้องรอการย่อยสลายอีก 500 ปี ให้เป็นโอกาสในการสร้างพลังงานทดแทน ผมก็ภูมิใจที่มีส่วนร่วมสร้างต้นแบบให้กับสังคมครับ” “และนอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ซึ่งถึงแม้ผมจะดูแลบ่อฝังกลบดีอย่างไร แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ต้องมีปัญหาแน่ ผมจึงอยากจะรวมรณรงค์หยุดการฝังกลบขยะ แล้วเอาขยะมาใช้ประโยชน์เสียตั้งแต่วันนี้ครับ”
นายวิเชียร อุษณาโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบางจากฯ กล่าวว่า “ในฐานะที่บริษัทมีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน บริษัท บางจากฯ จึงยินดีมากที่มีโอกาสร่วมมือรับซื้อน้ำมันดิบสังเคราะห์จากพลาสติก จากเทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อนำไปกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปคุณภาพสูง ซึ่งเป็นความร่วมมือจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับนโยบาย เป็นแนวทางของบางจากอยู่แล้วครับ”
นางสันติวิภา พานิชกุล กรรมการบริหาร บ.SPEE กล่าวถึงโครงการว่า “ขยะเป็นวิกฤต แต่เราสามารถนำ Science & Technology มาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ Polymer Energy Technology เป็นทิศทางใหม่ที่จะทำให้เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้พลาสติก อย่ารู้สึกผิด แต่เราควรแยกไว้มาทำน้ำมัน ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นการลดการขุดน้ำมันจากธรรมชาติ ซึ่งมีเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้วสำหรับอนุชนรุ่นหลัง”
อนึ่ง โครงการแปรรูปขยะพลาสติก ณ เทศบาลเมืองหัวหิน เป็นโครงการนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน โครงการเริ่มติดตั้ง/ทดสอบเครื่องจักรเสร็จสิ้นเมื่อปลายปี 2552 และได้เริ่มทดลองผลิตเต็มกำลัง ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กำลังการผลิต 6 ตันต่อวัน โดยมีผลผลิตเป็นน้ำมัน 4,500 ลิตร หรือปีละประมาณ 1,350,000 ลิตรต่อปี