กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ปตท.
เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรชีวภาพ จ.นครศรีธรรมราช จากพื้นที่ชายฝั่งทะเล “หาดขนอม”ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรทางทะเล ถึงยอด“เขานัน” ซึ่งมีระบบนิเวศ “ป่าเมฆ”ที่หายากและมีความสำคัญระดับโลก โดยจะใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่น พร้อมเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลมาปรับใช้ประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมทั้งเกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล ภายในเวลา 3 ปี
วันนี้ (3 ตุลาคม 2549) ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program : BRT) และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ลงนามในบันทึกความร่วมมือ “งานวิจัยโครงการจัดการทรัพยากรชีวภาพชายฝั่งทะเลถึงยอดเขา พื้นที่หาดขนอม-เขานัน” เพื่อร่วมกันดำเนินงานวิจัยศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2549 — 2551) ด้วยงบประมาณรวม 25 ล้านบาท โดยทั้ง 2 องค์กรจะร่วมกันออกค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่เท่ากัน
ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการ BRT เปิดเผยว่า งานวิจัยครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของงานวิจัยเชิงพื้นที่ (area-based) ที่สามารถบริหารจัดการเชื่อมโยงองค์ความรู้และผสมผสานการจัดการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืนในการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของพื้นที่ตั้งแต่ระดับชายหาดจนถึงยอดเขาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาถึงความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ โดย ปตท. จะร่วมเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนพื้นที่ให้เรียนรู้และค้นหาข้อมูลด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมกับนักวิจัย ทั้งนี้จากผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่าพื้นที่จากชายฝั่งทะเลถึงยอดเขา (หาดขนอม-เขานัน) มีสัตว์และพรรณพืชที่มีความสำคัญต่อการบ่งชี้สภาพแวดล้อมที่ดี อาทิ ปลาโลมาสีชมพู และ หญ้าทะเล และมีศักยภาพที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ สำหรับขอบเขตการดำเนินงานโครงการวิจัยฯ จะแบ่งเป็น 2 โครงการย่อย ได้แก่ “ชุดงานวิจัยพื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดขนอม” ซึ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตที่ผูกพันกับทะเล และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล และ “ชุดงานวิจัยพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขานัน” จะเน้นการศึกษาระบบนิเวศป่าเขาและ “ป่าเมฆ” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญ และพบในประเทศไทยเพียงไม่กี่แห่ง โดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายองค์กรได้บรรจุ “ป่าเมฆ” เป็นวาระสำคัญระดับโลก หรือ “Cloud Forest Agenda” เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเมฆ ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการเกิดสภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท.ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำแนวทางกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) เข้ามาเป็นกลไกในการบริหารจัดการ เพื่อให้ทุกโครงการและทุกพื้นที่ของ ปตท. ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สำหรับพื้นที่อำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 4 ของ ปตท. ซึ่งนอกจาก ปตท. จะร่วมสร้างสรรค์สังคมและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ขนอมแล้ว ปตท. ยังถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงความเข้มแข็งของชุมชนให้เป็นศูนย์กลางในการสร้างและบริหารองค์ความรู้ของท้องถิ่นอย่างบูรณาการ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อันนำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในลักษณะเช่นเดียวกับที่ ปตท. และ BRT ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทองผาภูมิตะวันตก 30,000 ไร่ จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนในพื้นที่สามารถเรียนรู้ เข้าใจและพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0-2537-2159-60, 0-2537-2163