กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ของประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามูลค่ารวมของ e-Commerce มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2550 มีมูลค่า 427,460 ล้านบาท และปี พ.ศ. 2551 มีมูลค่า 527,538 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 23.41 และจากผลการสำรวจยังพบว่าปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจ e-Commerce ต้องประสบ ก็คือ ประชาชนหรือผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่นิยม หรือไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 46.3 รองลงมาคือ ลูกค้าใช้ข้อมูลปลอมในการสั่งซื้อหรือจองแล้ว ไม่ชำระเงินมีร้อยละ 20
“ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้บริโภคผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป จึงถือเป็นนโยบายและมาตรการที่สำคัญของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ได้จัดทำ โครงการเสริมสร้างและพัฒนางานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและความเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งช่วยพัฒนาและผลักดันให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายสือ กล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น ได้มีการจัดกิจกรรมสัมมนาในหัวข้อ “คลิก ช้อป ออนไลน์ อย่างปลอดภัย รู้ทันภัยออนไลน์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนแนวความคิดเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป รอบรู้เท่าทันปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังเป็นมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และประชาชนที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนางสาวลัดดา แจ้งเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวจะจัดให้มีขึ้น 3 ครั้งใน 3 ภูมิภาค คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร โดยเชิญผู้แทนจากกลุ่มผู้บริโภค ผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจ SME กลุ่มสินค้า OTOP ภาคราชการ และประชาชนทั่วไป จำนวนกว่า 1,000 คนเข้าร่วมสัมมนา ส่วนเนื้อหาในการสัมมนานั้น จะเน้นการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้บริโภคและประชาชน ให้สามารถรู้เท่าทันภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จากประเด็นที่ได้ทำการศึกษาและประเด็นภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบปัญหาในปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ประสบภัย ตลอดจนการนำเสนอแนวทางการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย
“กระทรวงฯ หวังว่าการสัมมนาดังกล่าวจะทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้ ความเข้าใจในการประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการการรับมือจากภัยทางอินเทอร์เน็ตที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรูปแบบ วิธีการ ผลกระทบ ความรุนแรง ข้อสังเกตว่าภัยนั้นเกิดขึ้นแล้วหรือยัง รวมถึงวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน สำหรับบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบได้เองในระดับหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจ (Trust & Confidence) ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เห็นผลสำเร็จชัดเจน ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย” นางสาวลัดดา กล่าว