กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขยายเวลาเปิดรับสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี และด้านสิทธิเด็ก เพื่อคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ระยะเวลาปฏิบัติงาน ๓ ปี ถึงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓
นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะเป็นหน่วยประสานงานหลักของประเทศไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ได้เปิดรับสมัครบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ๑ คน และด้านสิทธิเด็ก ๑ คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ระหว่างเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ — กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ รวมระยะเวลา ๓ ปี และ ๑ ใน ๒ คน จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีก ๑ ปี ๖ เดือน ในช่วงที่เหลื่อมกับผู้แทนคนต่อไป ซึ่งเดิมได้กำหนดเปิดรับสมัครถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาพิจารณาคัดเลือกและส่งผู้แทนขององค์กรสมัครเข้าสู่กระบวนการสรรหา กระทรวงจึงได้ขยายเวลาการรับสมัครออกไปจนถึงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓ โดยผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.international. m-society.go.th/thailandacwc/ และส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน มาที่สำนักงานปลัดกระทวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ๑๐๓๔ ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ วงเล็บมุมซอง “สมัครผู้แทนไทย ACWC” หรือส่งทางโทรสาร ที่หมายเลข ๐ ๒๓๐๖ ๘๗๒๔ ทาง E-Mail : thaiacwc@gmail.com และทางออนไลน์ ที่ลิงค์ http://is.gd/5Y1bS ภายในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง โทร. ๐ ๒๓๐๖ ๘๗๒๔
นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ เป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีเงินเดือน หรือค่าตอบแทนใดๆ ให้ รัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายระหว่างการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการฯ หรือประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้สมัครควรมีเวลาให้กับการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนงาน/กิจกรรม ของคณะกรรมาธิการฯ ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้าร่วมประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของอาเซียนระหว่างสมัยประชุมได้ รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดเตรียมท่าทีของประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างศักยภาพของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ อาทิ ระดับผู้บริหาร ฝ่ายกฎหมาย ตุลาการ ภาคประชาสังคม และกิจกรรมส่งเสริมให้สาธารณชนมีความตระหนัก มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิสตรี สิทธิเด็ก โดยมีองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ด้านสิทธิสตรี สิทธิเด็ก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน