นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ขยายการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างสองประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2006 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กระทรวงพลังงาน
วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2549 เวลา 10.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ดำเนินการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ที่จะส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นประธานร่วมในพิธีลงนาม
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญและเป็นเรื่องน่ายินดีของทั้งสองประเทศ โดยตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย และนายบ่อสายคำ วงศ์ดารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ของ สปป ลาว ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เดิมจาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นและเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่า กฟผ. จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 523 เมกะวัตต์ และผู้ลงทุนโครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองโครงการมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับประเทศไทยภายในปี 2556 ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ 27 ปี อยู่ที่ระดับ 1.98 บาทต่อหน่วย (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ = 36 บาท)
ขณะเดียวกันในวันนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ยังได้มีการลงนามข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินในเมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ โดยการลงนามระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว กับประธานบริษัทบ้านปูฯ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับประเทศไทยได้ประมาณปี 2554 และ ปี 2556
“ประโยชน์ที่ได้รับของการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว นอกจากจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย กับ สปป.ลาว แล้ว ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ยังทำให้ สปป.ลาว มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน สปป.ลาว มีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ไทยประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มขึ้นอีกตามข้อตกลง ซึ่งสามารถนำเงินไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับประเทศไทยในการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย และมีราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ