สซ. โชว์ผลงานฝีมือคนไทยสร้างต้นแบบปั๊มสุญญากาศแบบสปัตเตอร์ไอออนรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 12:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโชว์ผลงานฝีมือคนไทยสร้างต้นแบบปั้มสุญญากาศแบบสปัตเตอร์ไอออนได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ลดการการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ นายสำเริง ด้วงนิล หัวหน้าฝ่ายเทคนิคและวิศวกรรม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “สถาบันได้ทำการคิดค้นปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองกับความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ กระทั่งสามารถผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศได้เองเป็นผลสำเร็จ และในปัจจุบันสามารถจัดสร้างต้นแบบปั๊มสุญญากาศแบบสปัตเตอร์ไอออน (Sputter Ion Pump) ได้ภายในประเทศเป็นผลสำเร็จโดยใช้ชิ้นส่วนที่จัดหาได้ในประเทศเป็นหลัก และพร้อมยินดีที่จะให้คำปรึกษาแก่ภาครัฐหรือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้งานปั้มสุญญากาศแบบสปัตเตอร์ไออน หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง” ด้านนายสุพรรณ บุญสุยา วิศวกรในทีมพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสุญญากาศที่ใช้ในระบบเครื่องกำเนิดแสงสยามและสถานีทดลองต่างๆ เป็นระบบสุญญากาศระดับสูงมากที่เรียกว่า Ultra High Vacuum (UHV) หรือสร้างความดันอากาศในเรือน 10-10 ทอร์(torr) โดยปกติสุญญากาศในระดับนี้ต้องใช้ปั๊มสุญญากาศแบบไอออนเป็นหลัก โดยมีหลักการ คือ ทำให้อากาศที่เหลืออยู่แตกตัวเป็นไอออน แล้วเคลื่อนที่ด้วยความเร่งภายใต้สนามไฟฟ้าและสนามสนามแม่เหล็ก พุ่งชนไททาเนียมบริสุทธิ์ให้หลุดออกมาจับกับโมเลกุลของอากาศ และฝังตัวอยู่ภายในเซลล์ของตัวปั๊ม เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตปั๊มดังกล่าวยังไม่มีในประเทศทำให้มีราคาสูง กลุ่มวิศวกรจึงได้ร่วมกันได้พัฒนาปั๊มสุญญากาศแบบสปัตเตอร์ไอออนขึ้นใช้ภายในสถาบันฯ โดยทำการศึกษา ออกแบบ และสร้างต้นแบบปั๊มสุญญากาศในขนาด 150 ลิตรต่อวินาที ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งปั๊มที่พัฒนาขึ้นสามารถสร้างสุญญากาศในระดับ 3 x 10- 10 ทอร์ (torr) และมีราคาถูกกว่าการนำเข้ามากกว่ากึ่งหนึ่งอีกด้วย และในปัจจุบันสถาบันฯ กำลังพัฒนาปั๊มสุญญากาศในขนาดใหญ่ขึ้นที่อัตรา 500 ลิตรต่อวินาที และคาดว่าปั๊มสุญญากาศที่พัฒนาขึ้นในประเทศนี้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอันใกล้นี้ สำหรับผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0 4421 7040 ต่อ หน่วยพัฒนาธุรกิจ โทรสาร 0 4421 7047

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ