พพ. แถลง 3 ภารกิจพลังงานทดแทน และอนุรกษ์พลังงาน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2010 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--พพ. พพ. รวมพลัง 3 รองอธิบดี ตั้งเป้าหมาย พัฒนาพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมทุกชุมชนพึ่งพาตนเอง และเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจชาติ ชี้ผลการตอบรับอนุรักษ์พลังงานจากทุกภาคส่วน ช่วยประหยัดพลังงานแล้วกว่า 50,968 ล้านบาท เตรียมเดินหน้ากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมและทุกครัวเรือนต่อ ด้านแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน 15 ปีไม่มีถอย เผยได้พื้นที่ศักยภาพพลังงานลมสูง 7 แห่ง กำลังผลิตรวมกว่า 73 เมกะวัตต์ พร้อมแก้ปัญหาพื้นที่ สปก. เรียบร้อย วันนี้ (3 มี.ค.2553) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดการแถลงข่าว “สูตรสำเร็จ 3 ภารกิจ กับ 3 ขุนพล พพ.” โดยมีนายธรรมยศ ศรีช่วย นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ และนายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดี พพ. ทั้ง 3 ท่าน เป็นผู้ร่วมแถลงข่าวดังกล่าว โดยมีผู้บริหาร พพ. ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วม นายธรรมยศ กล่าวว่า พพ. ได้ดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงานของประเทศมาตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2535 และได้ดำเนินการเรื่อยมา ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ตลอดจนภาคครัวเรือน ซึ่งพบว่าผลการอนุรักษ์พลังงาน ได้ช่วยให้ประเทศประหยัดพลังงานได้สูงถึง 50,968 ล้านบาท หรือประมาณ 2,038 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ(ktoe) ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้สูงถึง 6.25 ล้านตันคาร์บอน ทั้งนี้ งานด้านอนุรักษ์พลังงานเด่น ๆ ของพพ. ซึ่งได้ดำเนินการมา อาทิ โครงการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งได้ดำเนินการมาทั้งสิ้น 5 ระยะ มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น 273 ข้อเสนอ วงเงินลงทุน 13,785 ล้านบาท มูลค่าผลการประหยัด 4,689 ล้านบาท/ปี ลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 300 ktoe/ปี โครงการสินเชื่อพลังงาน มูลค่าการปล่อยสินเชื่อ 102,968.16 ล้านบาท ผลการประหยัด 34,322.72 ล้านบาท/ปี ลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 1,372.91 ktoe/ปี โครงการ ESCO Fund โครงการอนุมัติ 26 โครงการ เกิดการลงทุน 5,102.19 ล้านบาท ผลประหยัด 516.33 ล้านบาท/ปี ลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 32.31 ktoe/ปี และโครงการ Building Energy Code ผลการดำเนินการเด่น ๆ ได้แก่ ออกกฎกระทรวง Building Code ออกประกาศกระทรวงฯ เพิ่มเติม 2 ฉบับ ประสานงานกรมโยธา กทม. หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อบังคับมาตรฐาน เป็นต้น นายสุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของการผลักดันและส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำให้ปัจจุบันประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานลม นับว่าเป็นข่าวดี โดยปัจจุบัน พพ. ได้ศึกษาศักยภาพพลังงานลมภายในประเทศ จากการสำรวจศักยภาพพลังงานลมใน 35 แห่งทั่วประเทศ มีพื้นที่ที่เหมาะสมพัฒนาให้เป็นทุ่งกังหันลมได้ทั้งสิ้น 7 แห่ง รวมกำลังผลิตสูงถึงประมาณ 73.25 เมกะวัตต์ ได้แก่ บริเวณต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2 แห่ง บริเวณ ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี บริเวณ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา บริเวณ ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ บริเวณ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และ บริเวณ ต.เก่ายาดี อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ นอกจากนั้นภายในปี 2553 พพ.มีโครงการที่จะปรับปรุงแผนที่ศักยภาพพลังงานลมของประเทศไทยใหม่เพื่อให้มีข้อมูลที่ทันสมัยและถูกต้องมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะแล้วภายในเดือนสิงหาคม 2553 นี้ ด้านการแก้ปัญหา เพื่อการขอใช้พื้นที่ สปก. พัฒนาพลังงานลมผลิตไฟฟ้านั้น ล่าสุดจากผลการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ข้อสรุปร่วมกันเห็นชอบ ให้กิจกรรมผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมเป็นกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องต่อการปฏิรูปที่ดิน และให้สามารถดำเนินการได้ โดยคิดค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกับกิจการทำเหมืองแร่ โดยเรียกเก็บเป็น 2 ส่วน คือ เรียกเก็บค่าเช่าในอัตราร้อยละ 3 ของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์แบบรายปี และเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในอัตรา 35,000 บาทต่อไร่ต่อปีและให้มีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าตอบแทนทุกๆ 5 ปี ด้านนายทวารัฐ กล่าวว่า ความสำคัญของการส่งเสริมพลังงานทดแทน คือ ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ พพ. ได้มีโมเดลในเรื่องความร่วมมือลักษณะ 3 เส้า เพื่อทำให้เกิด “สถานีพลังงานชุมชน” กล่าวคือ พพ. จะเป็นฝ่ายวิชาการ องค์ความรู้เรื่องพลังงานทดแทน ภาคเอกชน เป็นฝ่ายเข้ามาร่วมลงทุน และภาคชุมชนหรือชาวบ้านจะเป็นเจ้าของที่ดิน ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวนี้ เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมทั้งจากภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันจะมีโครงการสถานีผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล โดยจะเป็นการรวมกลุ่มกันในลักษณะสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อรวบรวมนำแกลบ หรือฟางข้าว มาเป็นวัตถุดิบ ทำให้เกิดความเป็นเจ้าของแหล่งพลังงานหรือการพัฒนาพลังงานทดแทนร่วมกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ