สหมงคลฟิล์ม ภูมิใจเสนอภาพยนตร์เรื่อง เนื้อคู่กันแล้ว คงไม่แคล้วกันไปได้

ข่าวทั่วไป Thursday January 19, 2006 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สหมงคลฟิล์ม
OSCAR Pack #2
Brokeback Mountain
(Production Note - Part I)
เนื้อคู่กันแล้ว คงไม่แคล้วกันไปได้
ไม่ใช่การกล่าวยกยอเกินจริงนักหากจะยกให้ อั้งลี เป็นคนทำหนังที่มี ‘สถิติดีเยี่ยม’ ที่สุดคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์
อั้งลีทำหนังมากว่า 10 ปี มีผลงานกำกับรวมแล้วเพียง 9 เรื่อง (ยังไม่นับ Chosen ตอนหนึ่งในหนังชุด The Hire ของ BMW ซึ่งเป็นหนังสั้น ความยาวเพียง 6 นาที) ทว่าทุกเรื่อง - นับตั้งแต่ Pushing Hands หนังยาวเรื่องแรก จนถึงล่าสุดคือ Brokeback Mountain — ล้วนได้รับคำวิจารณ์ในเกณฑ์บวกทั้งสิ้น กระทั่ง Hulk ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหนังที่ด้อยที่สุดของอั้งลี ก็ยังไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า มันเป็น ‘หนังห่วย’
5 ปีก่อน อั้งลีทำให้คนทั้งโลกแห่แหนให้ความสนใจหนังกำลังภายในยกใหญ่ หลังจากที่ทำ Crouching Tiger, Hidden Dragon ได้งดงามเหนือชั้น เก็บกวดรางวัลจากเวทีการประกวดต่างๆ เสียหลายรายการ
มาปีนี้ อั้งลีกระตุ้นเร้าความสนใจของผู้ชมอีกครั้งด้วย Brokeback Mountain
หนังเปิดตัวงดงามด้วยการคว้ารางวัลสิงโตทองคำ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) จากเทศกาลหนังเวนิซครั้งล่าสุด (กันยายน 2005) และแน่นอน ในช่วงใกล้ออสการ์อย่างนี้ หนังถูกยกให้เป็น ‘ตัวเก็ง’ เกจิคาดหมายว่าน่าจะมีสิทธิคว้ารางวัลสำคัญๆ หลายสาขา รวมทั้งสาขาใหญ่ที่สุดอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผู้รู้จำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และรางวัลที่หนังเรื่องนี้เคยได้รับและกำลังจะได้รับในอนาคตนั้น จะทำให้เกิด ‘จุดเปลี่ยน’ ต่อโลกภาพยนตร์กันอย่างยกใหญ่
ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นเชื่อว่า Brokeback Mountain จะเป็นเสมือนการเบิกร่องนำทางให้หนังซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมีฐานะเป็น ‘หนังด้อยโอกาส’ ในโลกภาพยนตร์กระแสหลัก ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ทำให้ผู้ชมที่เคยนึกรังเกียจเดียดฉันท์ได้ตระหนักว่า หนังประเภทนี้ที่ดีเยี่ยมนั้นมีอยู่เหมือนกัน
และผู้ชมใน ‘วงกว้าง’ ก็สามารถซาบซึ้งกับมันได้ ไม่จำกัดเพียงเฉพาะกลุ่ม ‘ชายรักชาย’ หรือ ‘หญิงรักหญิง’ เท่านั้น
เรื่องย่อ
ฤดูร้อน ปี 1963 - แจ็ก ทวิสต์ (เจค กิลเลนฮาล) และ เอนนิส เดล มาร์ (ฮีธ เลดเจอร์) ได้รับการว่าจ้างให้เป็นคนงานในฟาร์มเลี้ยงแกะแห่งหนึ่งใกล้เทือกเขาโบร๊กแบ็กในไวโอมิง
จากที่ไม่ไว้ใจกันในตอนแรก ทั้งสองกลับกลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว และในเวลาต่อมา ความรู้สึกที่มีต่อกันนั้นก็พัฒนากลายเป็นความรัก
เมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลง ทั้งคู่กลับลงมาจากโบร๊กแบ็ก ต่างคนต่างแยกย้ายไปมีชีวิตของตนเอง
เอนนิสยังคงปักหลักอยู่ที่ไวโอมิง เขาแต่งงานกับ อัลมา (มิแชล วิลเลียมส์) แฟนสาวที่คบกันมานาน และในเวลาต่อมาก็มีลูกด้วยกัน 2 คน
ส่วนแจ็กแต่งงานกับ ลูรีน (แอนน์ แฮธาเวย์) สาวสวยประจำเมือง มีลูกกับเธอคนหนึ่ง และรับผิดชอบดูแลธุรกิจให้กับพ่อตาในเท็กซัส
ในระหว่างนั้น แจ็กกับเอนนิสตัดสินใจที่จะไม่พบกัน และไม่เก็บสิ่งที่เกิดขึ้นที่โบร๊กแบ็กมาคิดให้วุ่นวายใจ
จนกระทั่ง 4 ปีผ่านไป จู่ๆ แจ็กก็ส่งจดหมายถึงเอนนิสเพื่อแจ้งข่าวว่า เขาจะเดินทางผ่านมาแถวนั้น และจะแวะมาเยี่ยมในฐานะเพื่อนเก่า
อย่างไม่คาดคิด — การพบกันครั้งนี้ทำให้ทั้งแจ็กและเอนนิสตระหนักว่า แท้ที่จริงอีกฝ่ายสำคัญต่อตนมากแค่ไหน
และ 4 ปีที่ไม่ได้เจอกัน ไม่ได้ทำให้ความรักที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นนั้น เปลี่ยนแปรหรือลดน้อยลงเลย
เริ่มต้นจากหยดน้ำตา
จุดเริ่มต้นของ Brokeback Mountain ฉบับภาพยนตร์นั้น เริ่มต้นจาก ‘หยดน้ำตา’ ของผู้หญิงที่ชื่อ ไดอานา ออสซานา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นย้อนหลังกลับไปในปี 1997 เมื่อออสซานาได้อ่านเรื่องสั้น Brokeback Mountain ของ อี. แอนนี พรูซ์ นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 1993 ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร The New Yorker
งานเขียนชิ้นนี้ของเธอกระทบใจผู้อ่านเป็นอย่างมาก และหนึ่งในนักอ่านที่เจอฤทธิ์เดชของ Brokeback Mountain เข้าไปจนถึงกับน้ำตาร่วงเผลาะ ก็คือ ไดอานา ออสซานา คู่หูผู้ร่วมเขียนบทกับ แลร์รี แม็กเมอร์ทรี มายาวนาน (แม็กเมอร์ทรีเองก็เคยได้พูลิตเซอร์เหมือนกัน จากนิยาย Lonesome Dove ในปี 1986)
“ตอนนั้นฉันอยู่ในเท็กซัสกับ แลร์รี แม็กเมอร์ทรี (คู่หูของออสซานา เคยร่วมมือกันเขียนบทหนังและบทละครมาแล้วหลายชิ้น แม็กเมอร์ทรีผู้นี้เคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1986 จากนิยาย Lonesome Dove) และเพื่อนๆ กลุ่มหนึ่ง” ออสซานาเท้าความ “จู่ๆ เพื่อนคนหนึ่งก็ยื่น The New Yorker ฉบับที่มีเรื่องสั้นเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ให้ พร้อมแนะนำให้ฉันลองอ่านดู ผ่านไปค่อนเรื่อง ฉันก็เริ่มสะอื้น หลังจากนั้นก็น้ำตาซึมไปตลอดจนกระทั่งจบ”
ออสซานายอมรับว่า Brokeback Mountain ทำให้เธอสะเทือนใจอย่างถึงที่สุด อ่านจบแล้วถึงกับต้องเข้านอนเพราะร้องไห้เสียเหนื่อย และทันทีที่ลืมตาตื่นในเช้าวันรุ่งขึ้น เธอก็นำมันกลับมาอ่านอีกครั้ง เพราะอยากรู้ว่า ที่เธอรู้สึกอะไรกับมันเสียมากมาย เป็นเพราะบรรยากาศเปลี่ยวเหงายามค่ำคืนพาไปหรืออย่างไรกัน
“ปรากฏว่า ฉันรู้สึกกับมันมากกว่าเดิมเสียอีก” ออสซานาอธิบายว่า ความเยี่ยมยอดของ Brokeback Mountain นั้นอยู่ที่การพูดถึงความรู้สึกซึ่งเป็นสากล นักอ่านไม่ว่าจะเพศไหนวัยใดก็เข้าถึงมันได้ไม่ยากนัก “ความรัก ความเสียใจ ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสักกี่ศตวรรษ ความปรารถนาและความต้องการของมนุษย์ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักหรอก”
หลังจากนั้นเธอจึงขอให้แม็กเมอร์ทรีลองอ่านดูบ้าง — อยากรู้ว่า ผู้ชายจะรู้สึกรู้สมกับเรื่องราวของ ‘ชายรักชาย’ มากอย่างที่เธอรู้สึกหรือไม่ “แลร์รีอ่านจนจบ จากนั้นก็บอกว่า นี่คือเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเท่าที่เขาเคยอ่านจาก The New Yorker ฉันเลยถามว่า ‘คุณคิดว่าจะเอามันมาดัดแปลงเป็นบทหนังได้มั้ย’ เขาบอก ‘ผมว่าน่าจะได้นะ’ ฉันเลยเสนอว่า ‘ทำไมเราไม่ลองเขียนจดหมายหาแอนนี (แอนนี พรูซ์) ดูล่ะ’” แม็กเมอร์ทรีตอบตกลง และเรื่องทั้งหมดก็เริ่มขึ้นตรงนั้น
ความอดทนมีรสขม แต่ผลของมันมีรสหวาน
การดัดแปลงงานเขียนชิ้นนี้ของแอนนี พรูซ์ให้เป็นบทหนังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลักๆ เพราะต้นฉบับเป็น ‘เรื่องสั้น’ ที่ดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วทว่าทรงพลัง การจะนำมาขยายให้เป็นหนังซึ่งมีความยาวราว 2 ชั่วโมง โดยยังคงความลึกซึ้งของตัวละคร และพลังของความรู้สึกเหล่านั้นไว้ เป็นภาระหนักหนาไม่ใช่เล่น
กระทั่ง ไมเคิล คอสติแกน ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารของหนังเรื่องนี้ ยังบอกว่า เขาเคยอ่าน Brokeback Mountain มาแล้ว และก็คิดเหมือนอย่างที่คนอื่นๆ คิด คือ มันเยี่ยมยอดมาก กระนั้น สิ่งที่เขายังคิดไม่ตกก็คือ จะเอาเรื่องแบบนี้มาทำเป็นหนังได้อย่างไร?
คอสติแกนถึง ‘บางอ้อ’ หลังจากที่ได้อ่าน Brokeback Mountain ฉบับบทภาพยนตร์ของออสซานากับแม็กเมอร์ทรี “ผมรู้สึกเหมือนถูกตีแสกหน้า” คอสติแกนเล่า “เป็นบทหนังที่เยี่ยมยอดมาก ผมส่งให้ภรรยาผมอ่านต่อ เธอก็มีปฏิกิริยาแบบเดียวกัน หลังจากนั้นก็มีอีกหลายคนที่ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ และต่างก็รู้สึกว่ามันกระทบใจพวกเขาอย่างมากเหมือนกัน”
นั่นส่งผลให้คอสติแกนเริ่มเห็นทางที่จะผลักดันโครงการนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง ตั้งความหวังไว้ว่า ผู้ชมจะรู้สึกประทับใจในเรื่องราวเหล่านั้น ในตัวละครเหล่านั้น เทียบเท่ากับที่เขาและคนอื่นๆ ที่ได้อ่านบทแล้วรู้สึก “หนังอย่างนี้ต้องทำให้ได้ดี หรือไม่อย่างนั้น ก็ไม่ต้องทำมันเสียเลย” คอสติแกนกล่าวคมคาย
การควานหาตัวผู้กำกับที่รักใคร่บทหนัง Brokeback Mountain นั้นช่างง่ายดาย ก็อย่างที่ทั้งออสซานาและคอสติแกนกล่าวไว้ เรื่องต้นฉบับเดิมนั้นดีเยี่ยมอยู่แล้ว แถมยังได้รับการดัดแปลงอย่างเยี่ยมยอดโดยคนเขียนบทผู้มีฝีมือและประสบการณ์สูงอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ไม่ง่ายก็คือ การหาผู้กำกับที่รักบทหนังเรื่องนี้ด้วย และ ‘อยากทำ’ หนังเรื่องนี้ด้วย
“เรามีเรื่องที่ทรงพลัง มีบทที่ดีเยี่ยมสำหรับนักแสดง” ออสซานากล่าว “ฉันรู้ว่าเราต้องการนักแสดงที่ทั้งฉลาดและกล้าหาญ นอกจากนั้นเรายังต้องได้คนทำหนังที่พร้อมจะทำหนังเรื่องนี้ในงบประมาณที่จำกัด
“ฉันไม่เคยสูญเสียความเชื่อมั่น แต่ก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เราต้องรอนานถึง 7 ปีกว่าจะได้เห็น Brokeback Mountain เป็นรูปเป็นร่างอย่างแท้จริง เรื่องที่น่าหงุดหงิดที่สุดสำหรับฉัน คือการเห็นว่า ไม่มีใครคิดจะทุ่มเทให้หนังเรื่องนี้อย่างจริงจัง หลายคนได้อ่านบท หลายคนรักมัน แต่แล้วเมื่อมีโครงการอื่นที่มีเงินทุ่มให้มากกว่า หรือมีข้อเสนออื่นเข้ามา ทุกคนต่างก็ทิ้งงานนี้ไปกันหมด”
เข้าใจว่า ออสซานาคงไม่ได้หมายรวมถึง กัส แวน ซองต์ (To Die For, Elephant) วึ่งมีชื่อผูกพันในฐานะผู้กำกับ Brokeback Mountain มายาวนาน แต่สุดท้ายก็ต้องระเห็จออกไปโดยปริยาย เมื่อหนังจำต้องเปลี่ยนบริษัทผู้สร้างด้วยเหตุผลทางธุรกิจบางประการ
ฌอง-ฌากส์ รุสโซ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า “ความอดทนมีรสขม แต่ผลของมันมีรสหวาน”ฉันใดก็ฉันนั้นสำหรับ Brokeback Mountain
ไดอานา ออสซานาอาจรู้สึกขมขื่นไม่ใช่น้อยในระหว่าง 7 ปีที่รอคอยนั้น ทว่าที่สุดแล้วความรู้สึกร้ายลบดังกล่าวก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อจู่ๆ ก็มีคนทำหนังที่รักใคร่และให้คำสัญญาว่าจะดูแลหนังเรื่องนี้อย่างจริงจังปรากฏตัวขึ้น
เขาผู้นี้มีฝีมือดี ทำหนังมาไม่มาก แต่ทุกเรื่องอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งหมด
เขาผู้นี้มีชื่อว่า อั้งลี
คนแซ่หลี่
ตอนที่ได้อ่านเรื่องสั้น Brokeback Mountain เป็นครั้งแรกนั้น อั้งลี่ (หรือเรียกแบบจีนว่า หลี่อัน) ทำ Crouching Tiger, Hidden Dragon เสร็จไปไม่เท่าไหร่ และกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมงานชิ้นต่อไปคือ Hulk
“วันหนึ่ง เจมส์ เชมัส (โปรดิวเซอร์คู่ใจของอั้งลี) เปรยกับผมว่า เขาไปพบวัตถุดิบชั้นยอดสำหรับหนังมาเรื่องหนึ่ง แล้วก็เอาเรื่องสั้นเรื่องนี้มาให้ผมอ่าน” อั้งลีเล่า
“ผลปรากฏว่า พออ่านจบแล้วผมถึงกับร้องไห้ ประทับใจมากจนลืมมันไม่ลง หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้อ่านบทหนังของแลร์รีกับไดอานา ซึ่งผมก็รู้สึกแบบเดียวกัน เป็นการดัดแปลงบทที่ยอดเยี่ยมเหลือเกิน”
อย่างไรก็ตาม อั้งลีไม่สามารถนำตัวเองไปผูกพันกับงานนี้ได้ในเวลานั้น เพราะเจ้ายักษ์เขียว Hulk ก็กำลังรอท่าให้เขาไปกำกับอยู่เหมือนกัน
จนกระทั่ง 2 ปีหลังจากนั้น เมื่อชำระสะสางงานที่ค้างเติ่งอยู่ทั้งหมดเสร็จสิ้น เขาจึงได้ถามถึง Brokeback Mountain กับเชมัสอีกครั้ง “ผมถามเจมส์ว่า ‘ตอนนี้ Brokeback Mountain ไปถึงไหนแล้ว ได้สร้างหรือยัง’ เจมส์ตอบว่า ‘ยังเลย’ ผมเลยบอก ‘งั้นผมก็โชคดีน่ะสิ’ อย่างที่บอก ผมประทับใจเรื่องนี้มากจริงๆ แม้เวลาจะผ่านไปนาน แต่ผมก็ยังลืมมันไม่ลงสักที”
อั้งลีบอกเชมัสอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาอยากทำหนังเรื่องนี้ โดยไม่ได้มีเหตุผลสนับสนุนอะไรมากไปกว่า “ผมเชื่อของผมอยู่ลึกๆ ว่า ถ้าผมปล่อยให้ Brokeback Mountain หลุดมือไป ผมจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต”
พูดขนาดนี้ แถมเครดิตเก่าก่อนก็ไม่ใช่ชั่ว ดังนั้นตำแหน่งผู้กำกับ Brokeback Mountain จึงตกเป็นของอั้งลีในที่สุด
คนที่เพิ่งเคยได้ยินชื่ออั้งลีเอาคราวนี้อาจคลางแคลงใจว่า คนทำหนังเชื้อสายจีนอย่างเขา (อั้งลีเกิดที่ไต้หวัน) จะเข้าอกเข้าใจหนังที่มีตัวละครเป็นคาวบอย (ซึ่งหมายความว่า เป็น ‘อเมริกัน’ มากๆ) เช่นนี้ได้อย่างไร
ทว่า สำหรับผู้ที่พอจะรู้ประวัติอั้งลีอยู่บ้าง ทราบดีว่า ของแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้กำกับคนนี้เลย
เหตุก็เพราะอั้งลีเคยทำหนังชื่อ Ride with the Devil (1999) ซึ่งฉากหลังของเรื่องเป็นช่วงสงครามกลางเมืองในอเมริกามาแล้ว และก่อนหน้านั้นก็เคยทำ Sense and Sensibility (1995) ซึ่งทั้งบรรยากาศ ประเด็น ฉากหลัง และตัวละคร ล้วนแล้วแต่เป็น ‘อังกฤษจ๋า’ ได้อย่างเยี่ยมยอด หรืออย่างงานชิ้นก่อน คือ Hulk ก็เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร ‘อเมริกั๊น อเมริกัน’
นอกจากนั้น อั้งลียังเคยถ่ายทอดประเด็น ‘รักร่วมเพศ’ ได้อย่างเฉียบคมไว้อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง คือ ใน The Wedding Banquet ซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานที่ผลักดันให้เขามีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ
และก็อย่างที่ได้เรียนไว้แต่ต้น ทั้งหมดนั้นไม่มีหนังเรื่องไหนเข้าข่าย ‘ไม่เอาอ่าว’ เลยสักเรื่องเดียว
เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ว่า คนจีนอย่างอั้งลีจะเข้าใจวิถีชีวิตคาวบอยอเมริกันของตัวละครใน Brokeback Mountain ถ่องแท้หรือไม่นั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ผลงานที่ผ่านๆ มาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผู้กำกับคนนี้ก็มีจุดแข็งตรงที่ว่า เขาสามารถนำเสนอเรื่องราว ‘ความสัมพันธ์ของมนุษย์’ - ซึ่งเป็นหัวใจของหนังเรื่องนี้ - ได้อย่างทรงพลังเหลือเกิน
รวมจอมยุทธ์
หลังจากที่อั้งลีตกปากรับคำเป็นมั่นเหมาะว่าจะรับผิดชอบงานกำกับแล้ว ดูเหมือนว่า Brokeback Mountain ฉบับภาพยนตร์ จะไม่มีสิ่งใดน่าเป็นห่วงอีกต่อไป
บุคลากรทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังหลายคนหลายตำแหน่ง ต่างสมัครพรักพร้อมที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันทำให้หนังเรื่องนี้สำเร็จลุล่วง
อั้งลีได้นักแสดงหนุ่มฝีมือดีอย่าง เจค กิลเลนฮาล และ ฮีธ เลดเจอร์ มารับบท แจ็ก และ เอนนิส ตามลำดับ — ว่ากันว่า กิลเลนฮาลนั้นถึงกับเดินเข้ามาเสนอตัวกับอั้งลีเองเลยว่า เขาอยากเล่นหนังเรื่องนี้ ส่วนเลดเจอร์ก็ตกลงใจรับแสดงโดยที่ยังไม่ทันได้พบหรือพูดคุยกับอั้งลีเลยด้วยซ้ำ
ด้านงานกำกับภาพ อั้งลีได้ โรดริโก ปริเอโต ผู้กำกับภาพฝีมือเยี่ยมชาวเม็กซิกัน ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้อยู่เบื้องหลังหนังดังๆ หลายเรื่อง อาทิ Amores Perros หนังดังจากเม็กซิโก และ 21 Grams หนังเครียดหนักอึ้ง ผลงานกำกับของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู ทั้งคู่, Frida หนังสวยดูสนุกที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของศิลปินหญิงนาม ฟรีดา คาร์โล, 8 Mile ของ เคอร์ติส แฮนสัน ซึ่งมี EMINEM รับบทนำ
การออกแบบงานสร้างยกให้เป็นหน้าที่ของ จูดี้ เบ็คเกอร์ หญิงเก่งซึ่งเคยรับหน้าที่เดียวกันนี้ให้กับหนังอินดี้หลายต่อหลายเรื่อง นอกจากนั้นยังเคยถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน ’25 บุคคลที่น่าจับตามองแห่งปี’ ของนิตยสาร Filmmaker ในปี 2002 ด้วย
หรืออย่างดนตรีประกอบของหนัง ก็รับผิดชอบโดย กุสตาโว ซานตาโอลาลลา — ไม่นานมานี้เราเพิ่งได้เห็นฝีมือการประพันธ์เพลงของเขามาหมาดๆ ใน The Motorcycle Diaries ผลงานกำกับของ วอลเตอร์ ซัลเลซ ที่เล่าถึงชีวิตวัยหนุ่มของ เช เกวารา (ซานตาโอลาลลาได้รับรางวัล BAFTA จากงานชิ้นนี้ด้วย) ส่วนงานดังๆ ของเขาก่อนหน้านี้ก็เช่น Amores Perros และ 21 Grams ซึ่งกำกับโดยอเลฮานโด กอนซาเลซ อินาร์ริตู
การได้ทีมงานที่เก่งฉกาจ มีฝีมือพอที่จะไว้วางใจได้ ดังที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น เหมือนจะเป็นการรับรองในเบื้องต้นได้ว่า อย่างน้อยที่สุด Brokeback Mountain ก็น่าจะออกมาในระดับที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จริงนั้นกลับเกินคาดคิด เพราะหลายคนที่ได้ดูหนังแล้ว ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือหนังที่ดีเยี่ยม คำวิจารณ์นั้นออกมาในเกณฑ์ ‘บวกมาก’ ถึง ‘บวกมากที่สุด’ ถือว่าเป็นงานที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของอั้งลีเลยก็ว่าได้
Brokeback Mountain จะเข้าฉายในเมืองไทย 14 กุมภาพันธ์ 2006 แน่นอน!
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ