กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--IR Plus
"ออนไลน์แอสเซ็ท" เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านตลาดทุนให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพควบคู่กันไป รองรับการเติบโตของตลาดทุนไทยในอนาคต พร้อมหวังผลักดันโปรแกรม "อีไฟแนนซ์ไทย" ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างรองรับการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ประเดิมโครงการแรก เซ็นต์ฯ MOU กับมหาวิทยาลัยสยาม จัดโครงการส่งเสริมการออมและการลงทุนแก่นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ก่อนร่างแผนขยายความร่วมมือให้ครบ 6 มหาวิทยาลัยภายในปีนี้ นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออนไลน์แอสเซ็ท จำกัด ผู้ให้บริการและบริหารงานเว็บไซต์ทางการเงิน และการลงทุนของไทย ภายใต้ชื่อ www.eFinanceThai.com กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายจะสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านตลาดทุน เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยผ่านทางสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยได้ประเดิมโครงการแรก คือ ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสยาม จัดโครงการส่งเสริมการออมและการลงทุนแก่นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ด้วยการสนับสนุน User การใช้งานโปรแกรมอีไฟแนนซ์ไทยให้กับทางมหาวิทยาลัยเป็นจำนวน 100 users โดย user ส่วนหนึ่งนำไปให้บริการในห้องสมุดมารวยของมหาวิทยาลัย ให้แก่นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้ห้องสมุดและต้องการติดตามข่าวสารการลงทุน ส่วน user อีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาทางการเงินและการลงทุน ที่นิสิต นักศึกษาจะได้ใช้โปรแกรมอีไฟแนนซ์เหมือนเจ้าหน้าที่การตลาดและนักลงทุนที่ใช้กันอยู่จริง
"โครงการที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยามนี้ถือเป็นโครงการนำร่องโครงการแรกของเรา เนื่องจากเป็นโอกาสเดียวกับที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และมหาวิทยาลัยสยาม ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ University Networking เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการเงินและการลงทุนแก่นิสิต นักศึกษา โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาหลักสูตรสาขาตลาดทุนเพื่อใช้ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันได้อนุญาตให้ใช้เครื่องหมายห้องสมุดมารวยในสถานศึกษาด้วย จึงเป็นโอกาสที่ ออนไลน์แอสเซ็ท ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลและระบบข้อมูลข่าวสารการลงทุนรายเดียวที่เป็นของคนไทย จะเป็นส่วนหนึ่งในภาคเอกชนที่สามารถผลักดันการเติบโตของตลาดทุนไทยได้ เราจึงได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวด้วยการนำบริการของเราไปใช้สนับสนุนงานด้านการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรสายตลาดทุน ตามนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ และมหาวิทยาลัยดังกล่าว"
นายพรเลิศ กล่าวอีกว่า โครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสยาม นอกจากจะช่วยพัฒนาบุคลากรด้านตลาดทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายโดยตรงของโครงการแล้ว ในทางเดียวกัน ยังถือเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่โปรแกรมอีไฟแนนซ์ไทย ให้เป็นที่ยอมรับเป็นวงกว้างเพื่อปูทางไปสู่การเติบโตที่มั่นคงในระยะยาวด้วย ซึ่งหลังจากโครงการนี้แล้วบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะเข้าไปนำเสนอโปรแกรมอีไฟแนนซ์ให้กับทางมหาวิทยาลัยต่างๆอย่างน้อย 6 แห่งภายในปี 2553 นี้ และถ้าเป็นไปได้อาจจะได้ร่วมมือกับทางฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบวิชาชีพหลักทรัพย์และ ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำลังดำเนินโครงการ University Networking Project เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้โครงการการนำโปรแกรมอีไฟแนนซ์ไทยเข้าสู่มหาวิทยาลัย สามารถเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยได้มากกว่าที่ได้ตั้งเป้าไว้
ทั้งนี้ เพื่อสานต่อโครงการ University Networking ทางมหาวิทยาลัยสยามได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมความรู้ และขยายฐานการลงทุน หรือ SET in the SIAM university ครั้งที่ 1 ขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านการเงินและการลงทุนแก่นิสิต นักศึกษา และใช้โอกาสเดียวกันนี้ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทางด้านตลาดทุนกับทางมหาวิทยาลัยในการร่วมกับสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมความรู้ ทางด้านตลาดทุนให้กับทางมหาวิทยาลัยต่อไป