กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--ทีดีอาร์ไอ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิตอลและการหลอมรวมสื่อ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ให้กฎหมายสามารถดูแลครอบคลุมการกระทำละเมิดกฎหมายที่จะเกิดขึ้น จัดตั้ง กสทช. ให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลทั้งกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสื่ออื่นๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นวิทยากรบรรยาย ในหลักสูตรผู้บริหารสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 หัวข้อเรื่อง “กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับนักบริหาร” จัดโดย สถาบันอิศรา ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงสื่อสารมวลชนในปัจจุบันว่า มีการหลอมรวมของสื่อหลายชนิดทั้งไอที โทรคมนาคม และบรอดแคสติ้ง การจัดแยกประเภทของสื่อจึงยากขึ้น การกำกับดูแลตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ก็ยากขึ้นตาม โดยเฉพาะการกำกับดูแลการใช้สื่อนั้นแยกออกจากกันได้ยากว่าเป็นสื่อชนิดใด จะใช้ พ.ร.บ.ฉบับใดกำกับดูแล ขณะที่กฎหมายก็ยังมีช่องโหว่มากมายใช้ได้เพียงการกับดูแลเฉพาะสื่อเท่านั้น
“ในอดีตสื่อสารมวลชน คือ สื่อที่ออกมาจากจุดๆเดียวและออกไปสู่คนหลายๆคนโดยใช้ระบบวัตต์ ตั้งอยู่ที่สถานี และทุกคนสามารถรับได้ ส่วนโทรคมนาคมก็เป็นประเภทหนึ่งต่อหนึ่ง คุยเป็นคู่ๆ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปมีการใช้ Social Network เป็นการเชื่อมโยงทุกส่วน อุปกรณ์ของการส่งสัญญาณเองก็แยกอย่างขึ้น ทำให้บริการต่างๆมารวมกันเพื่อจุดประสงค์ในเชิงธุรกิจ และมีการนำสื่อทุกสื่อมาผสานกัน เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพียงเครื่องเดียวสามารถใช้สื่อได้หลากหลายสื่อ ตอบสนองผู้บริโภคในโลกอนาคต”
รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า การกระจายตัวของตลาดของสื่อต่างๆ มีการผสานเข้าด้วยกันนี่เองทำให้มีความต้องการขายโฆษณา และการจัดการทางด้านสื่อต้องออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างครบ ถ้วน การนำเสนอผ่านสื่อสารมวลชนจึงขาดระเบียบและขาดการกลั่นกรองก่อนนำออกมาเผย แพร่ อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของเคเบิลทีวีและสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ควบคุมการนำเสนอได้ยาก
“เมื่อมีการตอบสนองด้วยสื่อใหม่มากขึ้น ทำให้การเติบโตของสื่อหลักมีรายได้ลดน้อยลง โฆษณาจึงหันไปใช้บริการสื่อใหม่ ปัญหาคือการโฆษณาไม่มีการกลั่นกรอง เพราะนำเสนอได้โดยง่าย และยังมีการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต การละเมิดลิขสิทธิ์ และการกระทำผิดกฎหมายทางด้านสื่อ โดยใช้ช่องว่างที่ไม่มีกฎหมายใดๆออกมารองรับการเกิดสื่อใหม่เช่นนี้ และพ.ร.บ.ตัวเดิมไปจัดการก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง”ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า เพื่อการรองรับเทคโนโลยีดิจิตอลและการหลอมรวมสื่อจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยน แปลงให้กฎหมายสามารถดูแลครอบคลุมการกระทำละเมิดกฎหมายที่จะเกิดขึ้น การจัดตั้ง กสทช. ให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลทั้งกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสื่ออื่นๆที่จะเกิดขึ้น เพื่อการดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ให้ กสทช. จัดทำแผนแม่บทคลื่นความถี่ เพื่อปรับการนำไปสู่การรับส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลในอนาคต
ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่ต้องหาคำตอบคือ กลไกสถาบันสังคม และกฎหมายสามารถรองรับยุคของการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยี ยุควิทยุสี่พันช่อง โทรทัศน์พันช่อง ยุคอินเทอร์เน็ตมหาศาลได้หรือยัง และจะปล่อยให้สื่อเกิดขึ้นทั้งแบบในระบบหรือนอกระบบโดยไม่มีกฎหมายมารองรับได้อย่างไร