กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สศอ.
กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ากระตุ้นผู้ประกอบการตื่นตัวมาตรการสิ่งแวดล้อม บุกตลาดประเทศคู่ค้า ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอาเซียนภายใน 10 ปี หนุนอุตฯ หลัก ยานยนต์-ไฟฟ้าฯ-สิ่งทอ ขยายตัวต่อเนื่องใน EU
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจะส่งออกสินค้าเข้าไปจำหน่ายในในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหภาพยุโรปนั้น รูปแบบและลักษณะสินค้าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยต้องมีการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฏระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรป ได้แก่ กฏระเบียบ ELV/WEEE/RoHS, กฏระเบียบ EuP และกฏระเบียบ REACH ซึ่งสาระสำคัญส่วนใหญ่ภายใต้กฏระเบียบทั้งหมดได้ให้ความสำคัญกับการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้กฏระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเพิ่มภาระต้นทุนต่างๆ การส่งออกประสบปัญหาอุปสรรค Supply Chain ถูกทำลายลง และสินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว ในระยะที่ 1 จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณภายในกรอบปี 2551 — 2553 กว่า 500 ล้านบาท เพื่อร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า โดยได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้รองรับกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป 3 มาตรการหลัก ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาฐานข้อมูล การพัฒนาผู้ประกอบการและห้องปฏิบัติการทดสอบ และการจัดทำกฏระเบียบ/มาตรฐานและระบบการจัดการซาก
โดยระยะที่ 2 ในกรอบปี 2554-2556 จะเร่งให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในอาเซียน โดยวางแนวทางในการยกระดับสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าสำคัญ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการใช้สินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศอย่างแพร่หลาย และป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าด้อยคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลักได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานในระยะที่ 1 ที่สำคัญ ได้แก่ ฐานข้อมูล,ห้องปฏิบัติการ, ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฏระเบียบและศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผลิตสินค้า Eco Product เป็นต้น
“ในระยะที่ 2 นอกจากการวางแนวทางเพื่อยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังได้มุ่งเน้นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตื่นตัว และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรป พร้อมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานในระยะที่ 1 อาทิการเข้าถึงห้องปฏิบัติการทดสอบ 5 แห่ง และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะให้บริการออกแบบผลิตภัณฑ์ ปรับกระบวนการผลิต และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ได้มีการติดตามกฏระเบียบมาตรการต่างๆ ทั้งที่มีผลบังคับใช้แล้วและมาตรการใหม่ๆ ที่จะมีการประกาศออกมาในอนาคต โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่สำคัญ ได้แก่ ฐานข้อมูลกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวัฎจักรชีวิต (LCI) คลังข้อมูลสารเคมี ฐานข้อมูลกากอุตสาหกรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายฐานข้อมูล และจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฏระเบียบประเทศคู่ค้า”
นางสุทธินีย์ ยังกล่าวอีกว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงการปรับตัวให้ได้ตามกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการแข่งขันครั้งสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถส่งออกและขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิกในยุโรปและประเทศต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสามารถยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้จุดเด่นด้านนี้มาเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่กำลังหันมาให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย