กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ. เดินหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง ภายใต้โครงการ “สมาร์ทโปรเจค เฟส 3” หลังผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการและการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่าปะการังเทียมที่ออกแบบสามารถช่วยลดพลังงานคลื่นได้สูงสุดถึง 88% เผยเตรียมทดลองเชิงประจักษ์กับสภาพการใช้งานจริงในทะเล ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี เดือน เม.ย. นี้ ก่อนติดตามผลต่อเนื่องอีก 1 ปี เพื่อประเมินผลด้านวิศวกรรม ด้านระบบนิเวศ และด้านสังคม หวังช่วยลดวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ หัวหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในทั้ง 23 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล โดยในบางพื้นที่มีการกัดเซาะวิกฤติถึง 20 เมตรต่อปี นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งมาตรการแก้ปัญหาที่ผ่านมามักเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ที่ยังไม่มีการจัดโซนนิ่งและแผนแม่บทระยะยาว ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้มาตรการแก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่ ทั้งวิธีใช้โครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้างไม่บรรลุผลเท่าที่ควร
“ม.อ. หวังที่จะแก้ปัญหาให้ชุมชนในท้องถิ่นภาคใต้ จึงได้จัดตั้งกลุ่มวิจัยทางทะเลขึ้นมาเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ โดยแนวความคิดของการวิจัย ได้จากการสังเกตหาดทรายที่มีแนวปะการังอยู่ตามธรรมชาติ พบว่าพื้นที่เหล่านี้ประสบปัญหาน้อยมาก เนื่องจากแนวปะการังจะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติที่สามารถชะลอความแรงของคลื่นได้เป็นอย่างดี จึงได้นำหลักการ “แนวปะการังเทียมกันคลื่น” มาเป็นทางเลือกในการแก้ใขปัญหาแบบบูรณาการ ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และไม่บดบังภูมิทัศน์การท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ สมาร์ท โปรเจค” ผู้ช่วยศาสตราจารย์พะยอมกล่าว
ทั้งนี้ โครงการ “สมาร์ท โปรเจค” เฟส 1 ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2549 โดยได้ศึกษาพื้นที่หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา และเฟส 2 ในปี 2552 ได้ขยายผลไปยังพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดระยอง-จันทบุรี ภายใต้การสนับสนุนของกรมทรัพยากรธรณี โดยได้ทำการวิจัยรูปแบบ รูปทรง และขนาดของแท่งปะการังเทียม พร้อมทั้งผังการจัดวาง ด้วยแบบจำลองทางกายภาพในรางจำลองคลื่น และด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ปะการังเทียมที่สามารถสลายพลังงานคลื่นได้สูงสุดและเกื้อกูลต่อสัตว์ทะเล
หัวหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง กล่าวว่า พบว่า แท่งปะการังเทียมที่ได้จากการศึกษาวิจัยเป็นรูปทรงโดมฐานหกเหลี่ยม สามารถสลายพลังงานคลื่นได้ 60-88% มีช่องเปิดขนาดต่างๆ โดยรอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสลายพลังงานคลื่น ลดการสะท้อนกลับของคลื่น และยอมให้กระแสน้ำสามารถไหลผ่านได้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือรวมฝูงของปลา และเพิ่มพื้นผิวให้สิ่งมีชีวิตกลุ่มเกาะยึด ซึ่งในบางพื้นที่อาจพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำดูสัตว์น้ำใต้ทะเลได้
“ปัจจุบัน สมาร์ท โปรเจค เป็นโครงการเฟส 3 ภายใต้การสนับสนุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบแท่งปะการังเทียม การผลิตแท่งปะการังเทียมที่มีความคงทนในน้ำเค็มโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล แล้วทดลองเชิงประจักษ์ (Real Experiment Research) โดยจะวางในพื้นที่สาธิต ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และสถานที่แห่งนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ในระดับสากลอีกด้วย โดยจะวางแนวปะการังเทียมจำนวน 254 แท่ง จำนวน 5 แถว เป็นแนวยาว 100 เมตร ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 3 เมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 400 เมตร แล้วทำการติดตามข้อมูลทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อตรวจสอบประเมินผล ทั้งด้านประสิทธิภาพการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ระบบนิเวศทางทะเล และทัศนคติของชุมชนและผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยอม กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรณีที่ได้ผลการทดลองเชิงประจักษ์ที่เพชรบุรีจะได้ผลเป็นที่พอใจ แต่การจะนำไปประยุกต์เพื่อช่วยแก้ปัญหาในภาคใต้ตอนล่าง ก็จะต้องสำรวจข้อมูลเฉพาะพื้นที่ให้รอบคอบ เช่น สภาพภูมิประเทศ ความลึก ความลาดชันของท้องทะเล สัณฐานของชายฝั่ง สภาพทางสมุทรศาสตร์ น้ำขึ้น-น้ำลง ลักษณะคลื่นลม กระแสน้ำ ตะกอนท้องทะเล สภาพทรัพยากรชายฝั่ง สภาพการใช้พื้นที่ชายหาด และที่สำคัญคือสภาพวิถีชุมชนในพื้นที่ จากนั้นจึงทำการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ เพื่อให้ตอบสนองทั้งการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ลดผลกระทบด้านต่างๆ และการเกื้อกูลต่อระบบนิเวศชายฝั่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยอม กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ภาครัฐจะต้องจัดทำโซนนิ่งเพื่อจัดเขตการใช้พื้นที่ชายฝั่ง พร้อมวางแผนแม่บทการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง อย่างเร่งด่วน บางพื้นที่อาจจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางสังคมและประวัติศาสตร์ ก็จำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสม
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118
e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com