กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลการออกและเสนอขายตราสารหนี้ของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ออกหลักทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่บริษัทจำกัด (บจ.) และบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ให้ใช้มาตรฐานเดียวกับ บจ. และ บมจ. และเห็นชอบให้ออกหลักเกณฑ์ในการกำหนดลักษณะการขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน
1. แนวทางการกำกับดูแลการออกและเสนอขายตราสารหนี้ของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ออกหลักทรัพย์อื่นทุกรายที่ไม่ใช่ บจ. และ บมจ. ที่จะเสนอขาย
ตราสารหนี้ให้กับผู้ลงทุนทั่วไป (public offering: PO) ต้องยื่นขออนุญาตกับ ก.ล.ต. และต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด พร้อมกับจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีสำหรับ บมจ. เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนตามมาตรฐานสากล โดยผู้ลงทุนจะได้รับข้อมูลมากเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับผู้ออกตราสารหนี้รายอื่นได้
ซึ่งข้อกำหนดนี้จะเปิดทางให้หน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงส่วนงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร
สามารถออกตราสารหนี้ได้กว้างขวางขึ้น
2. ประกาศลักษณะการขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน
คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการกำหนดลักษณะการขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการ
หรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีลักษณะไม่เหมาะสม
เข้ามาดำรงตำแหน่งที่สามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัท
หลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดลักษณะที่ขาดความน่าไว้วางใจไว้ 3 กลุ่มตามระดับความชัดเจน ได้แก่ (1) กลุ่มที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจอย่างชัดเจน กล่าวคือ มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย
หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหลักทรัพย์หรือกฎหมายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (2) กลุ่มที่อ้างอิงผลการพิจารณาขององค์กรอื่น โดยจำกัดเฉพาะเรื่องการบริหารงานโดยทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ โดยหลอกลวง
หรือโดยทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และ (3) กลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรงที่ ก.ล.ต. ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี โดยจะให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกชุดหนึ่งเพื่อถ่วงดุล
การใช้อำนาจของ ก.ล.ต. รวมทั้งในการพิจารณา ก.ล.ต. จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณาชี้แจงและใช้สิทธิโต้แย้งได้ และเมื่อ ก.ล.ต. มีคำสั่งแล้วว่า ผู้ถูกพิจารณามีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ ผู้ถูกพิจารณาก็มีสิทธิ
ที่จะอุทธรณ์ได้ตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ทั้งนี้ ในกรณีที่บุคคลใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจดังกล่าวข้างต้น บุคคลนั้นจะดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนไม่ได้