กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--พม.
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงข่าวเปิดตัวระบบบริการล่ามภาษามือ สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ครั้งแรกในประเทศไทย อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางการได้ยิน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิประโยชน์และบริการทางสังคมต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน และองค์กรคนพิการ ขยายบริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยมี นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการแถลงข่าว ในวันจันทร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว ปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๕๐ พบว่ามีคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย ทั้งสิ้น ๗๐๕,๔๓๗ คน ปัจจุบันมีคนพิการทางการได้ยินจดทะเบียนคนพิการแล้วจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๔ นับว่ามีจำนวนมากเป็นอันดับ ๒ รองจากคนพิการทางร่างกาย ซึ่งคนพิการกลุ่มนี้ ไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดและการฟังได้ จึงต้องใช้ภาษามือในการสื่อสาร แต่จากปัญหาที่พบและซ้ำซ้อน เป็นปัญหาเพิ่มขึ้นสำหรับคนพิการด้านนี้ คือ เมื่อมองจากภายนอกจะดูเหมือนคนปกติทั่วไป ทำให้คนพิการกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือการได้รับสิทธิประโยชน์และบริการทางสังคม เช่นเดียวกับคนพิการกลุ่มอื่นๆ
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจัดให้บริการล่ามภาษามือ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางการได้ยิน จึงได้เร่งผลักดันให้เกิดระบบบริการล่ามภาษามือที่มีประสิทธิภาพขึ้น โดยระเบียบ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยริเริ่มจัดให้มีระบบบริการล่ามภาษามือ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมบริการทางสังคม โดยมีค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงาน ที่จะเป็นสื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของคนพิการทางการได้ยิน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน และได้รับบริการทางสังคมต่างๆ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ได้อย่างเต็มศักยภาพเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมดำเนินการกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรของคนพิการ ตลอดจนสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย ซึ่งเตรียมพร้อมขยายการให้บริการให้สามารถครอบคลุมทั่วถึงทุกจังหวัด
“หลังจากที่ล่ามภาษามือมายื่นขอจดทะเบียนเป็นล่ามภาษามือ กับหน่วยงานสังกัดพม.แล้ว หากคนพิการทางการได้ยินมีความประสงค์ขอรับบริการล่ามภาษามือ สามารถมายื่นคำขอรับบริการได้ในกรณีต่างๆ ได้แก่ การใช้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข การสมัครงานหรือการติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ การร้องทุกข์ การกล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวน รวมทั้งการเข้าร่วมประชุม สัมมนา ฝึกอบรม และบริการอื่นใดตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือประกาศกำหนด โดยในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ต่างจังหวัดให้ยื่นติดต่อขอใช้บริการได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด”