การปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ข่าวทั่วไป Monday March 8, 2010 10:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงกระบวนการในการทำงาน ลดขั้นตอนในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยกฎหมายที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ และพระราชบัญญัติความลับทางการค้าฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ พระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ และพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีฯ และอาจมีการเสนอให้ออกกฎหมายเพิ่มเติม คือ ร่างพระราชบัญญัติการบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย นางปัจฉิมาฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการแก้ไขกฎหมายทุกฉบับจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และผู้แทนจากภาควิชาการ นอกจากนี้ยังมีการประชุมระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย (Focus group) และมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th ด้วย สำหรับกฎหมายที่อยู่ในความสนใจของครูเพลงทั้งหลาย คือ พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีฯ ซึ่งมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้ร้องเรียนว่า การแจ้งของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่จะต้องจัดเตรียมเอกสารมายื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้ต้นทุนในการผลิตซีดีสูงขึ้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้จัดประชุมระดมความเห็นในเรื่องดังกล่าวจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งในเบื้องต้นที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรมีการแก้ไขกฏหมายโดยยกเลิกมาตรา 5 วรรค 2 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 5 วรรค 2 ซึ่งในชั้นพิจารณาร่างกฎหมายเมื่อปี 2548 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ โดยมีข้อดี คือ มีส่วนช่วยให้สามารถตรวจสอบติดตามหาตัวผู้ผลิตซีดีโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ อย่างไรก็ดีกฏหมายซีดีของประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มาเก๊า จีน และฮ่องกง ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว คงมีเฉพาะกฏหมายของไทยเท่านั้น ซึ่งโดยข้อเท็จจริงการมีบทบัญญัติดังกล่าวก็มีข้อเสียดังที่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้ร้องเรียน นางปัจฉิมาฯ แสดงความเห็นว่า เมื่อมีการคัดค้านการยกเลิกมาตรา 5 วรรค 2 กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยินดีที่จะรับฟัง และอาจจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกชั้นหนึ่งเพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ในระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติซึ่งใช้เวลานาน กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงแก้ไขอนุบัญญัติที่ออกตามพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีฯ เช่น ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้ง เพื่อแก้ไขปัญญาในทางปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการในเบื้องต้นก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ