ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่หนองจอก

ข่าวทั่วไป Monday March 8, 2010 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--กทม. ผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเขตหนองจอก และแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ พร้อมปล่อยขบวนรถน้ำ 9 สำนักงานเขตกลุ่มกรุงเทพตะวันออกออกจ่ายน้ำในพื้นที่ขาดแคลน แม้เบื้องต้นยังไม่พบพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง แต่กำชับให้เตรียมการป้องกันและประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแลน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร การป้องกันโรค และแผนระงับอัคคีภัยทุกพื้นที่ใกล้ชิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เดินทางไปยังบริเวณฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาพื้นที่ 3 หนองจอก ถ.สกุลดี เขตหนองจอก เพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภัยแล้งในพื้นที่เขตหนองจอก พร้อมทั้งทำพิธีปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำของ 9 สำนักงานเขตกลุ่มกรุงเทพตะวันออก ประกอบด้วย รถบรรทุกน้ำของสำนักงานเขตบางกะปิ ลาดกระบัง สะพานสูง มีนบุรี บึงกุ่ม คันนายาว คลองสามวา ประเวศ และหนองจอก เพื่อประจำจุดจ่ายน้ำประปาให้แก่ประชาชน บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 พื้นที่เขต ได้แก่ เขตมีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง และหนองจอก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีพื้นที่การเกษตรรวม 149,884 ไร่ ขณะนี้แม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะภัยแล้งรุนแรง แต่จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น เร่งจ่ายน้ำดื่มให้ประชาชน พร้อมบริหารจัดการพื้นที่เกษตรไม่ให้ได้รับผลกระทบ นายไพโรจน์ สุดใจ ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กทม. รายงานสภาพปัญหาภัยแล้งในพื้นที่พร้อมทั้งแนวทางให้การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งขณะนี้เขตฯ ได้ตั้งแท็งก์น้ำ 9 จุด จำนวน 17 แท็งก์ รวมทั้งจ่ายน้ำดื่มให้กับประชาชนตั้งแต่เดือน ม.ค. — 2 มี.ค. รวมกว่า 116,000 ลิตร เนื่องจากน้ำประปายังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการตาม MOU ระยะที่ 2 โครงการวางท่อจ่ายน้ำประปาเร่งด่วนในกรุงเทพมหานคร ร่วมกับการประปานครหลวง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวม 32 เส้นทาง และสำรวจความต้องการเพิ่มเติมตาม MOU ระยะที่ 3 พร้อมกันนี้ เขตฯ ได้ประสานกับฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 หนองจอก สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งรวมพื้นที่ 88,900 ไร่ อย่างไรก็ตาม เขตฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรในพื้นที่ให้งดการปลูกข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป เพื่อป้องกันนาข้าวเสียหาย รวมทั้งให้สำรองน้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่า ศูนย์ฯ ภัยแล้งกทม.ประสานทุกหน่วยงานพร้อมรับมือภัยแล้ง และเหตุเพลิงไหม้ ด้าน ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ ณ กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งรัดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมทั้งประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับเขต เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัย อาทิ รวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ และขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานภายนอก กำหนดจุดจ่ายน้ำดื่ม น้ำใช้ ตรวจสอบ คูคลอง แหล่งน้ำ บ่อน้ำบาดาล ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ พร้อมทั้งประสานการประปานครหลวง (กปน.) แจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรโดยไม่คิดมูลค่าจนกว่าสภาวะภัยแล้งจะคลี่คลายหรือยุติ แจ้งเตือนเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 พร้อมทั้งแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีอายุสั้น ใช้น้ำน้อย หรือประกอบอาชีพเสริมในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในการระงับอัคคีภัย เช่น ถังดับเพลิงในชุมชน รถน้ำ เครื่องสูบน้ำชนิดหาบหาม ตลอดจนจัดทำแนวกันไฟป้องกันไฟไหม้หญ้า และสำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และเส้นทางเข้าออกชุมชน แหล่งน้ำและหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ประปาหัวแดง ให้พร้อมใช้งานเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย ซึ่งหากประชาชนพบเหตุอัคคีภัย หรือไฟไหม้หญ้า โทรแจ้ง 199 ตลอด 24 ชั่วโมง แนะวิธีดูแลสุขภาพป้องกันโรคระบาดหน้าร้อน และโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมกันนี้ กทม.ได้ประสานสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ในการจัดเตรียมยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้ความช่วยเหลือประชาชน และควบคุมโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันตนเองจากโรคต่างๆ ในช่วงหน้าร้อน เช่น โรคผิวหนัง โรคลมแดด นอกจากนี้ยังมีโรคระบาดที่ติดต่อทางอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารพิษ อาทิ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไทฟอยด์ โรคตับอักเสบชนิดเอ รวมถึงโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตาม กทม. ขอให้ประชาชนกรุงเทพฯ ดูแลสุขภาพของตนเอง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ส่วนน้ำดื่มและนมให้สังเกตวันหมดอายุของสินค้า ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนปรุงอาหารและรับประทานอาหาร หมั่นออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 30 นาที หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หากจำเป็นขอให้ดื่มน้ำสะอาดเย็นๆ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน และควรนำสุนัขไปฉัดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วย เติมน้ำเต็มแท็งก์บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เดินทางไปยังบริเวณมัสยิดดารุ้ลอะมาน ถ.เลียบคลองลำต้อยติ่ง ซึ่งสำนักงานเขตหนองจอกได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการประชาชน พร้อมทั้งรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง โดยปัจจุบันประชาชนจำนวน 89 ครัวเรือนในพื้นที่ดังกล่าวยังใช้น้ำจากคลองธรรมชาติเพื่อการอุปโภคบริโภค และมักประสบภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเบื้องต้น เขตฯ ได้บรรเทาความเดือดร้อนโดยตั้งแท็งก์น้ำจำนวน 7 แท็งก์ ให้บริการส่งน้ำสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 2 เที่ยว ทั้งนี้ บริเวณมัสยิดดารุ้ลอะมาน อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนวางท่อจ่ายน้ำประปาเร่งด่วน MOU ระยะที่ 2 โอกาสนี้ ผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันเติมน้ำประปาลงแท็งก์สำรองน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนช่วงฤดูแล้ง และพบปะประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ