ปภ. คาดการณ์หน้าร้อนปี 2553 ไทยประสบภัยแล้ง หมอกควัน ไฟป่ารุนแรง

ข่าวทั่วไป Monday March 8, 2010 11:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2553 พบทั่วทุกภาคมีแนวโน้มเกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงและขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเกิดพายุฤดูร้อนบ่อยครั้งในพื้นที่ตอนบนของประเทศ รวมทั้งมีโอกาสเกิดไฟป่าและหมอกควันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนล่าง พร้อมแนะประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงฤดูร้อน นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประเมินและคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2553 จากข้อมูลลักษณะอากาศของหน่วยงานต่างๆ พบว่า สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศน้อยกว่าปี 2552 ร้อยละ 5 ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่แล้งซ้ำซาก ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำค่อนข้างมาก จากการประสานข้อมูลกับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดว่า มีจังหวัดที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งปานกลางถึงมากรวม 27 จังหวัด แยกเป็น เสี่ยงมาก ๓ จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี และสระแก้ว เสี่ยงปานกลาง ๒๔ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ ลำพูน สุโขทัย ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม เลย ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ จันทบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี ชุมพร ระนอง ตรังและสตูล โดยสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงและขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2553 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีสภาพอากาศแปรปรวน และเกิดพายุฤดูร้อนบ่อยครั้ง ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมทั้งสภาพอากาศที่แห้งแล้งยังทำให้เกิดไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอาจเกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมจากสถานการณ์ไฟป่าในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย และในช่วงปลายเดือนเมษายน 2553มีโอกาสที่พายุไซโคลนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ราบลุ่มบางพื้นที่ นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยจัดเตรียมภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ ในฤดูแล้ง ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า ส่วนเกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำต้นทุนในพื้นที่และแผนการบริหารจัดการน้ำ เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย รวมถึงไม่ประกอบกิจกรรมที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่าและหมอกควัน เช่น เผาขยะมูลฝอยหรือวัชพืช ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนกอหญ้าหรือใบไม้แห้ง เป็นต้น หากจำเป็นต้องจุดไฟ ควรควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนติดตามรับฟังข่าวพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ หากมีประกาศแจ้งเตือนพายุฤดูร้อนหรือลูกเห็บให้เก็บสิ่งของที่สามารถปลิวไปตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงไม่อยู่ใกล้บริเวณวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าและไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ เงิน เป็นต้น งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติในช่วงฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ