กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ม.รามคำแหง
ความจริงวิกฤตการณ์แม่น้ำโขงเหือดแห้งไม่ใช่เริ่มเกิดขึ้นในปีนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี เพียงแต่มีความรุนแรงแตกต่างกัน ระดับน้ำในลำน้ำโขงมีการขึ้นลงตามธรรมชาติ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนเป็นเวลาน้ำขึ้น โดยจะขึ้นเรื่อยๆ เดือนสิงหาคมจะขึ้นมากที่สุด เดือนตุลาคมจะทรงตัว และเริ่มลดระดับลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนเข้าสู่ฤดูแล้ง เดือนเมษายนจะลดลงมากที่สุด แต่หลังจากที่ประเทศจีนสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ แม่น้ำโขงตอนล่างที่ผ่านประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากการปิดเปิดเขื่อนปล่อยน้ำของประเทศจีน เงื่อนไขการปล่อยน้ำจากจีนนี่เองที่ซ้ำเติมธรรมชาติในลำน้ำโขง มีผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยแม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงชีวิต ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าภาครัฐและภาคประชาชนจะร่วมกันบริหารจัดการแหล่งน้ำธรรมชาตินี้ได้อย่างไร ชุมชนมีศักยภาพเพียงพอในการแก้ปัญหาหรือไม่
ปีงบประมาณ 2549-2550 ผู้เขียนได้ทำการวิจัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นลงของแม่น้ำโขงโดยตรง ในหัวข้อเรื่อง “การประเมินศักยภาพด้านการเมืองการบริหารและความเข้มแข็งทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงผ่านกระบวนการพัฒนาการค้าชายแดนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพทางการเมือง ศักยภาพทางการบริหาร ความเข้มแข็งทางสังคม และความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของชุมชนในด้านการค้าชายแดนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งเปรียบเทียบศักยภาพและความเข้มแข็งดังกล่าวใน 6 ตำบลและ 1 เทศบาลตำบล ตลอดจนสังเคราะห์ยุทธศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงทางการเมือง การบริหาร สังคม และวัฒนธรรม เพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาการค้าชายแดนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลการวิจัยพบว่าชุมชนเชียงแสนมีศักยภาพน้อยทางการเมืองในเรื่องเกี่ยวกับความสามารถในการกำหนดนโยบายและแผน การเจรจาต่อรองด้านการค้าและการลงทุน การติดตามและการประเมินผลการนำนโยบายด้านการค้าชายแดนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปปฏิบัติ ศักยภาพด้านการบริหารก็ต่ำกว่ามาตรฐานเพราะมีทรัพยากรการบริหารด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนไม่เพียงพอ ความเข้มแข็งทางสังคมยังไม่มากพอในด้านความรู้ความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา สุขภาพ และรายได้ไม่เพียงพอ ชุมชนเชียงแสนมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมอย่างมาก มีแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติในทุกตำบล มีวัฒนธรรมหลากหลายทั้งแบบคนเมืองและชนเผ่า แต่ขาดการประชาสัมพันธ์และการวางแผนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าการท่องเที่ยวบริเวณสามเหลี่ยมทองคำและการค้าริมแม่น้ำโขงในปี พ.ศ.2550 ซบเซาลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2549
อำเภอเชียงแสนมีแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติมากมาย แหล่งท่องเที่ยวในตำบลโยนก ได้แก่ ทะเลสาบเชียงแสน วัดพระธาตุศรีโยนก วัดสันธาตุ วัดสันต้นเปา ตำบลเวียง ได้แก่ วัดพระธาตุปูเข้า วัดพระธาตุผาเงา พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน วัดพระธาตุสองพี่น้อง วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดจอมแจ้ง วัดสบรวก สามเหลี่ยมทองคำ หอฝิ่น พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น ศูนย์หัตถกรรมบ้านวังลาว ตำบลศรีดอนมูล ได้แก่ หมู่บ้านชนเผ่าอู่โล้อาข่าและโครงการหลวงดอยสะโงะ วัดศรีชัย แม่มะ ตำบลบ้านแซว ได้แก่ หมู่บ้านเย้าห้วยกว๊าน อนุสรณ์สถานสามผู้กล้า น้ำตกแม่แอบ หมู่บ้านจีนคณะชาติแม่แอบ วัดบ้านแซว ตำบลป่าสัก ได้แก่ วัดป่าสัก วัดป่าสักน้อย หนองบัวสด สถานที่ผลิตสมุนไพรชาสามรส บ้านดอนจำปี หมู่ที่ 7 ตำบลแม่เงิน ได้แก่ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านธารทอง วนอุทยานน้ำตกวังธารทอง วนอุทยานขุนน้ำยาบ วัดพระธาตุหม่อนต้นต้อง วัดพระธาตุแสนคำฟู ป่าอนุรักษ์ห้วยออกรู แหล่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพต่างๆ และในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ได้แก่ กำแพงเมืองเชียงแสน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน วัดพระธาตุเจดีย์หลวง วัดป่าสักหางเวียง
ด้านวัฒนธรรมทางการค้าของคนในชุมชน พบว่าวิถีชีวิตการค้าของชาวเชียงแสนผูกพันกับแม่น้ำโขงมานาน มีการขนถ่ายสินค้าระหว่างไทย-จีนบริเวณท่าเรือเชียงแสน การค้าในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีลักษณะซื้อมาขายไปหรือนำพืชผลทางเกษตรที่ชาวบ้านปลูกกันเองมาขาย มีสินค้าพื้นเมือง ทั้งของ ไทลื้อ ไทยใหญ่ และชนเผ่าต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องประดับของชนเผ่า อาหารพื้นเมือง ของที่ระลึกต่างๆ ด้านวัฒนธรรมอาหาร พบว่ามีอาหารแบบทางเหนือทั่วไป เช่น ข้าวซอย ข้าวนึ่ง อาหารจัดแบบขันโตก รวมทั้งอาหารไทยใหญ่ เช่น ข้าวแรมฟืน หนังควายจี่กับเหล้าตอง ด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย พบว่าในเทศกาลงานประเพณีต่างๆ จะมีการแต่งกายทั้งแบบไทยวน ไทลื้อ ไทยใหญ่ อู่โล้อาข่า ม้งขาว และเย้า ด้านวัฒนธรรมการละเล่น พบว่าเด็กชาวบ้านจะมีการละเล่นทั้งแบบคนเมืองและแบบชนเผ่า ด้านวัฒนธรรมการสื่อสาร พบว่าชาวเชียงแสนมีการสื่อสารกันด้วยภาษาคนเมืองและชนเผ่า คือใช้ภาษาล้านนาและภาษาของชาวเขา ด้านวัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัย มีการสร้างบ้านโดยแฝงคติความเชื่อและเหตุผลทางภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ว่า ชุมชนอำเภอเชียงแสนมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมอย่างมาก มีแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ ทุกตำบล มีประเพณีทั้งของคนเมืองและชนเผ่า แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ศักยภาพทางการเมืองการบริหารและความเข้มแข็งทางสังคมวัฒนธรรมใน 6 ตำบลและ 1 เทศบาลตำบล มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ผู้วิจัยได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ช่องทางโอกาส และสิ่งที่เป็นอุปสรรคคุกคาม โดยให้ผู้นำภาครัฐและประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และได้จัดทำยุทธศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงทางการเมือง การบริหาร สังคม และวัฒนธรรมเพื่อตอบสนองนโยบายการค้าชายแดนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน การบริหารการพัฒนา การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนยุทธศาสตร์ทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเมืองการบริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรประสานกับองค์กรภาคเอกชน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งของตน เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน อำเภอเชียงแสน และจัดให้มีการประชุมระดมสมองเพื่อให้มีการผลักดันเชิงนโยบายไปสู่การนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับคนในท้องถิ่นและประเทศชาติโดยรวม เน้นคุณค่าของเชียงแสนซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของไทย เน้นสุนทรียภาพทางจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม ตลอดคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งธรรมชาติของลำน้ำโขง น้ำตก ลำธาร และป่าเขา แทนที่จะเน้นแต่สามเหลี่ยมทองคำเพียงอย่างเดียว
ยิ่งในภาวะวิกฤติภัยแล้งคุกคามชาวลุ่มน้ำโขงอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลและผู้แทนราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นคงต้องคิดทำงานช่วยประชาชนอย่างหนัก ต้องร่วมกันวางแผนพัฒนาร่วมกับภาคประชาชน ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ดีกว่ามุ่งขนคนมาเป็นม็อบเพื่อสร้างความร่ำรวยให้คนคนเดียวหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น