กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ทช.
สัตว์ทะเลหลายชนิดใช้เวลาทั้งชีวิตในการเดินทาง ทั้งเดินทางเพื่อเติบโต เดินทางเพื่อหาคู่ เดินทางเพื่อสืบพันธุ์ เดินทางเพื่อวางไข่ หรือแม้กระทั่งเดินทางเพื่อความอยู่รอด ซึ่งการเดินทางที่แสนยาวไกลของสัตว์ทะเลเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะตลอดเส้นทางข้ามเขตทะเล ข้ามประเทศ ข้ามทวีปล้วนเต็มไปด้วยอันตราย และแน่นอนว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตระหว่างทาง
ดังที่เราได้ยินข่าวกันบ่อยครั้งว่าพบสัตว์ทะเลเกยตื้น โดยบริเวณชายฝั่งทะเลของไทยมักพบสัตว์ทะเลหายากหลัก ๆ ที่มาเกยตื้นจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมา
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า โดยเฉลี่ยเฉพาะชายฝั่งทะเลอันดามันจะมีสัตว์ทะเลมาเกยตื้นปีละ 50 — 100 ตัว ส่วนใหญ่เป็นเต่าทะเล เช่น เต่ากระ เต่าตนุ นอกจากนี้ยังพบพะยูน โลมาและวาฬ 23 ชนิด และบางครั้งจะพบฉลามวาฬหรือเต่ามะเฟือง
ทั้งนี้ เต่าทะเลจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 60 — 70 % นอกนั้นมีอัตราการรอดชีวิต 50 % สาเหตุของการเกยตื้นของสัตว์ทะเลมีทั้งจากธรรมชาติ เช่น ป่วย หลงฝูง เกิดพายุ น้ำท่วมหนัก หรือภัยพิบัติ และจากมนุษย์ แต่จากสถิติพบว่าส่วนใหญ่จะเกิดจากมนุษย์ เช่น ติดอวน ติดโป๊ะ ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือทำการประมง หรือกินขยะที่มนุษย์ทิ้งเข้าไป โดยแต่ก่อนในประเทศไทยไม่ค่อยพบสัตว์ทะเลตายด้วยการกินขยะ แต่ปัจจุบัน ทช.พบเต่าทะเลที่กินเศษโฟม เศษเชือก และเข้าไปอุดตันทางเดินอาหารจนเสียชีวิตจำนวนมาก
ทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน ตระหนักว่าสัตว์ทะเลมีค่ามหาศาลต่อระบบนิเวศเพียงใด จึงได้ร่วมกับทั้งประชาชนและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้นให้กลับคืนสู่ท้องทะเลตามธรรมชาติให้ได้มากและปลอดภัยที่สุด ซึ่งการช่วยเหลือให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้นต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์และบุคลากรที่พร้อมสำหรับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง
‘รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว’ ที่ ทช.เตรียมไว้ช่วยเหลือสัตว์ทะเลเหล่านี้ สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดีในกรณีที่ได้รับแจ้งว่าพบสัตว์ทะเลเกยตื้น ‘รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว’ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ทช.จะรุดเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อเข้าช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บ โดยในรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็วจะมีอุปกรณ์เพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาทิ เครื่องเอ๊กซเรย์ ถังออกซิเจน เป็นต้น ซึ่งรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็วถือว่าเป็นฟันเฟืองที่สำคัญและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือสัตว์ทะเลเกยตื้น ตั้งแต่การปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปจนถึงการขนย้ายซาก
นายวรรณเกียรติ กล่าวถึงการดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากที่เกยตื้นต่อไปว่า เมื่อได้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วไม่พบอาการบาดเจ็บหนักหรือบาดเจ็บฉกรรจ์ ก็จะส่งกลับสู่ท้องทะเลทันที แต่หากสัตว์ทะเลที่ประสบเหตุนั้นบาดเจ็บ อ่อนแอ ยังไม่สามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ หน่วยช่วยชีวิตก็จะส่งตัวไปบำบัดยังศูนย์หรือสถานที่ที่มีความพร้อมและมีบุคลากรที่มีความชำนาญในการช่วยชีวิตดูแลต่อไป ก่อนที่จะนำไปปล่อยให้ไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติยังท้องทะเลตามเดิม อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วในการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่หน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลต้องการมากที่สุด
“ขณะนี้ ทช. มีรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็วประจำการอยู่เพียง 2 คัน ดูแลพื้นที่ชายฝั่งติดทะเลถึง 6 จังหวัด รถคันหนึ่งประจำการอยู่ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง ส่วนอีกคันเตรียมความพร้อมอยู่ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต รถดังกล่าวมีมูลค่าคันละ 3 ล้านบาท สาเหตุที่ราคาค่อนข้างสูงเนื่องจากภายในรถจะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พร้อมให้การช่วยเหลือสัตว์ทะเลอย่างครบครันและสามารถเข้าช่วยเหลือสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้นได้อย่างมาก รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็วนี้จึงมีบทบาทในการปฏิบัติงานช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังถือว่ารถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็วยังมีไม่พอกับจำนวนงานที่ต้องทำ” ผอ. สถาบันวิจัย ฯ กล่าว
ด้านนางสาวกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน เปิดเผยว่า งานช่วยชีวิตสัตว์ทะเลเป็นงานหนัก ไม่มีเวลาแน่นอนเพราะสัตว์ทะเลสามารถมาเกยตื้นได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องการทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่มีคุณภาพเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างดีที่สุด และจะได้นำสัตว์ทะเลเหล่านั้นกลับคืนสู่บ้านได้
ปัจจุบัน ทช.มีศูนย์แม่ที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะดูแลตลอดชายฝั่งอันดามัน และศูนย์ลูกกระจายอยู่ที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร และสงขลา ดูแลตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย มีสัตวแพทย์ 2 คน ประจำที่ภูเก็ต 1 คนและที่ระยอง 1 คน มีบางครั้งเมื่อได้ทราบข่าวว่ามีสัตว์ทะเลมาเกยตื้นแต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปช่วยชีวิตได้ทัน เนื่องจากรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็วมีเพียง 2 คัน หากสัตว์ทะเลมาเกยตื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะไปถึง หรือกว่าจะเดินทางกลับมายังศูนย์แม่ก็ต้องใช้เวลานานเช่นกัน ดังนั้น มีหลายครั้งที่ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลที่เคราะห์ร้ายไว้ไม่ได้และต้องสูญเสียสัตว์เหล่านั้นไปในที่สุด
จะเห็นได้ว่าการทำงานของหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากยังมีอุปสรรคในการทำงานอยู่ทั้งเรื่องบุคลากร งบประมาณ และรถกู้ภัย แต่แม้ว่าความสำคัญของหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลจะสวนทางกับความพร้อมในการช่วยเหลือแต่เจ้าหน้าที่ ทช. รวมไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงทำงานกันอย่างต่อเนื่องและสุดความสามารถ เนื่องจากไม่มีผู้ใดทนเห็นภาพสัตว์ทะเลหายากที่มาเกยตื้นและบาดเจ็บโดยที่ตนไม่ลงมือช่วยเหลือใด ๆ เลยได้
ผอ.สถาบันวิจัย ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งหน่วยงานของรัฐ ชาวบ้าน เอกชน มีการร่วมมือ ประสานงานกันเป็นอย่างดี พยายามทำงานกันอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะหากเข้าถึงที่เกิดเหตุได้เร็วเพียงไรก็หมายความว่าโอกาสรอดของสัตว์ก็จะมากขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์อย่างสม่ำเสมอให้มีการหวงแหน อนุรักษ์ธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับสัตว์ทะเลอย่างถูกต้อง ในขณะที่ภาคเอกชนบางแห่งได้มีการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย