กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--องค์การหมอไร้พรมแดน
แพทย์ไทย นักกิจกรรมด้านเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องอีกครั้งต่อบริษัทยาสหรัฐฯ แอบบอท ให้เปิดโอกาสผู้ติดเชื้อไทยสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสตัวสำคัญ
เมื่อเดือนที่แล้ว (15 มีนาคม) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาผู้ติดเชื้อ นักวิชาการ และนักกิจกรรมที่ทำงานด้านเอดส์ กว่า 25 คน รวมทั้งองค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารบริษัท แอบบอท แลบอราทอรี่ส์ จำกัด สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้นำยา LPV/r รูปแบบใหม่มาขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย และขายในราคาที่ยุติธรรม
โลพินาเวีย/ริโทนาเวีย (LPV/r) หรือที่รู้จักกันในนามชื่อการค้าว่า คาเลทรา (Kaletra) รูปแบบใหม่ มีข้อดีกว่ายารูปแบบเก่าที่ขายอยู่ในประเทศไทย เพราะจำนวนเม็ดที่รับประทานต่อวันน้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาในที่เย็น ขณะที่บริษัทแอบบอท แลบอราทอรี่ส์ จำกัด ทยอยที่จะเก็บยารูปแบบเก่าออกจากตลาดในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปและนำยารูปแบบใหม่วางขายแล้ว ดูเหมือนว่า บริษัทแอบบอทยังมีเจตนาที่จะใช้ประเทศไทยเป็นที่โละยารูปแบบเก่า
เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทแอบบอท แลบอราทอรี่ส์ จำกัด ได้ประกาศที่จะขายยา LPV/r รูปแบบใหม่ในราคาพิเศษ (20,000 บาทต่อผู้ป่วยต่อปี) ให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด - LDCs (ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา) แต่ไม่ประกาศราคายารูปแบบใหม่ที่จะขายในประเทศไทย ราคายา LPV/r รูปแบบเก่าที่ขายอยู่ในปัจจุบัน มีราคาแพงมาก ประมาณ 108,000 บาท ต่อผู้ป่วยต่อปี ทำให้มีผู้ติดเชื้อน้อยรายที่สามารถเข้าถึงยาดังกล่าว*
ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อประมาณ 80,000 คนได้รับการรักษาภายใต้โครงการพัฒนาการเข้าถึงบริการยาต้านไวรัสเอดส์สำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ (National Access to Antiretroviral Programs for PHA — NAPHA) ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆที่ต้องเปลี่ยนสูตรยาจากยาต้านไวรัสเอดส์พื้นฐาน เป็นสูตรสำรอง เช่น ยา LPV/r (คาเลทรา) เมื่อเกิดอาการดื้อยา
ผู้ที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารบริษัท แอบบอท แลบอราทอรี่ส์ จำกัด สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้นำยา LPV/r รูปแบบใหม่มาขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย และขายในราคาที่ยุติธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนายาขนานสำหรับเด็ก ประกอบไปด้วย เช่น ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย, ศ.พญ.เพลินจันทร์ เชษฐโชติศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, อ.จอน อึ้งภากร วุฒิสมาชิก, นายกมล อุปแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
เกี่ยวกับองค์การหมอไร้พรมแดนเบลเยี่ยม (ประเทศไทย)
องค์การหมอไร้พรมแดน (Medicine Sans Frontieres - MSF / Doctors without Borders) เป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์ มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบในภาวะความขัดแย้ง ภัยพิบัติธรรมชาติ และโรคระบาดต่างๆ โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งไม่เลือกชนชาติ ศาสนา และลัทธิการเมือง
นับตั้งแต่ปี 2541 องค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับเครือข่ายและองค์กรพันธมิตรในประเทศไทย เรียกร้องให้มีการลดราคายาเพื่อทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นพ.เดวิด วิลสัน ผู้ประสานงานฝ่ายการแพทย์
นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงการรักษา
องค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย)
522 นครไทย ซ.14 ถ.ลาดพร้าว 101/1 คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ
โทร. 02 3703087 , 05 0708954
โทรสาร 02 7311432
อีเมล์ msfb-bangkok@brussels.msf.org
msfb-drug-bangkok@brussels.msf.org
ข้อมูลเพิ่มเติม
กระทรวงสาธารณสุขไทย ต้องจ่ายค่ายา LPV/r รูปแบบเก่าในราคา 108,000 บาท (2,700 $) ต่อผู้ป่วยต่อปี ขณะที่ในบราซิล (ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับกลางเช่นเดียวกับไทย) จ่ายเพียงครึ่งหนึ่งของราคาที่คนไทยต้องจ่าย คือ 55,200 บาท (1,380 $) ต่อผู้ป่วยต่อปี ส่วนกัมพูชาและประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ซื้อ LPV/r ในราคาเพียง 20,000 บาท (500 $) ต่อผู้ป่วยต่อปีเท่านั้น
ถึงแม้ว่า จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า ในปี 2549 นี้มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อต้องการใช้ยา LPV/r ประมาณ 8,000 คน แต่จากราคาที่แพงมาก ทำให้งบประมาณของรัฐบาลที่มีอยู่สามารถจัดหายาให้ผู้ติดเชื้อได้เพียง 500 คนเท่านั้น