ม.มหิดล จับมือ องค์การสวนสัตว์ฯ ลุยงานด้านการวิจัยโรคสัตว์ป่า จากสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ สุขภาพสิ่งแวดล้อม สู่ One Health

ข่าวทั่วไป Tuesday March 9, 2010 13:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--ม.มหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย สัตวแพทย์หญิงวันทนีย์ รัตนศักดิ์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคสัตว์ป่าต่างถิ่นและสัตว์อพยพ และ นายโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสัตวแพทย์สุเมธ กมลนรนาถ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์วิจัยและการศึกษา ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบ “สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)” ที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการโรคระบาดที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งตามธรรมชาติ และที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ชนิดรุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza, HPAI) มหาวิทยาลัยมหิดล มีพื้นฐานการวิจัยด้านการแพทย์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ คือมียุทธศาสตร์และเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านการวิจัยโรคสัตว์ป่า ในระดับภูมิภาค ซึ่งตรงกับแนวทางการพัฒนางานด้าน การอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าขององค์การสวนสัตว์ฯ ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกถิ่นอาศัยและเป็นผู้ดูแลทรัพยากรสัตว์ป่าหายากของไทยและของโลกหลายชนิด จึงได้มีการเจรจาและตกลงในการร่วมกันพัฒนางานวิจัยและสร้างระบบการเฝ้าระวัง ในการระบาดของโรคสัตว์อุบัติใหม่ที่ยังไม่มีรายงานการพบอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เช่น โรคไข้สมองอักเสบ เวสท์ไนล์ โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ รวมถึงโรคอุบัติซ้ำที่มีอยู่ในประเทศไทยแต่ยังเกิดการระบาดเป็นครั้งคราว นอกจากไข้หวัดนกแล้ว ยังมีโรคที่สำคัญที่ประเทศต้องให้ความสนใจและสร้างระบบตรวจวินิจฉัยและเฝ้าระวังโรคอย่างเป็นระบบ โดยมีการแบ่งงานและประสานงานกันอย่างชัดเจน และสามารถลดความเสี่ยงต่อสุขภาพคน และสัตว์รวมถึงการเตรียมความพร้อมและวางมาตรการเพื่อควบคุมโรคหากเกิดการระบาดขึ้นในอนาคต มีรายงานว่าการระบาดของโรคสัตว์อุบัติใหม่มีสัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการระบาดของโรค ทั้งสองหน่วยงานจึงเล็งเห็นความสำคัญในการทำงานดังกล่าวร่วมกัน โดยจะเป็นแกนนำที่จะประสานงานกับหน่วยงานอื่น ทั้งในประเทศ ภูมิภาคและหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีความสนใจในงานด้านนี้อย่างเข้มแข็ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในระดับภูมิภาคต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2849-6208-10 mu-pr

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ