สสว. จับมือ ศ.ศ.ป. สร้างรายได้และพัฒนา SME สาขาศิลปหัตถกรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday March 9, 2010 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สสว. สสว. เดินหน้าโครงการช่วยเหลือ อุดหนุน SMEs นำร่องด้วยการจับมือ ศ.ศ.ป. มุ่งพัฒนาศักยภาพทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และขยายตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้ SMEs กลุ่มศิลปหัตถกรรม นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า จากสภาวการณ์ที่ SMEs ไทย ต้องประสบปัญหาทั้งในเรื่องการพัฒนาศักยภาพการผลิตการออกแบบ และขยายตลาดเพื่อสร้างรายได้ ดังนั้นปี 2553 สสว. จึงได้จัดทำโครงการช่วยเหลือ อุดหนุน สนับสนุน และส่งเสริม SMEs ซึ่งภายใต้กิจกรรมการสร้างรายได้และศักยภาพเศรษฐกิจในระดับฐานราก สสว. ได้เริ่มนำร่องการดำเนินงาน โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เพื่อมุ่งส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มสินค้าหัตถกรรม “ความร่วมมือระหว่าง สสว. และ ศ.ศ.ป. ในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและยกระดับสินค้าหัตถกรรมของ SMEs ไทย (สินค้าศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน) เนื่องจาก ศ.ศ.ป. เป็นศูนย์กลางการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพไทยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าหัตถกรรม ทั้งในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การออกแบบ และการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นายยุทธศักดิ์ กล่าว ด้านนายกุญญพันธ์ แรงขำ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป.เปิดเผยว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สสว. จะทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรวบรวมและสนับสนุนฐานข้อมูลด้านผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าศิลปหัตถกรรม เสนอให้กับ ศ.ศ.ป. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขยายตลาดผ่านช่องทางการพัฒนาและการขายของ ศ.ศ.ป. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ “เราทำหน้าที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน รูปแบบของสินค้าและบรรจุภณฑ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งเสริม สนับสนุนด้านการตลาด การขยายตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างอุตสาหกรรมการผลิต การจำหน่าย รวมทั้งสนับสนุนให้มีการประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย” อย่างไรก็ตาม ศ.ศ.ป.ได้ปรับกลยุทธ์การบริหารองค์ความรู้ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมยุคใหม่ โดยการนำแนวคิดการพัฒนาแบบสากลมาประยุกต์ใช้ในภารกิจหลักของ ศ.ศ.ป. ด้วยแนวคิดการออกแบบสู่ตลาดการพาณชิย์เชิงรุก (Design to Commercialization) ภายใต้กรอบการทำงานที่เรียกว่า “Matrix Model” โดยมี Mr. Massimo Zucchi นักออกแบบยอดเยี่ยมของอิตาลี มาร่วมกระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการทดลองตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจว่า รูปแบบของสินค้าที่ได้รับการออกแบบจะได้รับการตอบสนองจากลูกค้าในตลาด และสามารถเทียบชั้นกับแบรนด์ชั้นนำในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สสว. โทรศัพท์ : 0-2278-8800 ต่อ 310

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ