กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน บูรณาการความร่วมมือ ก.เกษตร ฯ เร่งเครื่องพัฒนาพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ มั่นใจยกระดับส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ให้ทะลุเป้าหมายแผนพลังงานทดแทน 15 ปี อย่างเป็นรูปธรรม
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนาย ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรม โดยมีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเป็นพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสองกระทรวงและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะถือเป็นพันธะสัญญาในการร่วมกันพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทยอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม โดยจะร่วมกันทำหน้าที่ กำกับ ตรวจสอบติดตามการพัฒนาพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานทดแทน และสนับสนุนข้อมูล ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รายละเอียดตามบันทึกข้อตกลง ฯ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ จะมีการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลให้ได้ 600,000 ตันต่อปี ภายในปี 2554 และเพิ่มเป็น 1.1 ล้านตัน ภายในปี 2565 การผลิตเอทานอล จะส่งเสริมให้ใช้มันสำปะหลัง 1.5 ล้านตันในปี 2554 และ 9 ล้านตันภายในปี 2565 เช่นกัน โดยกระทรวงเกษตร ฯ พร้อมจะช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชพลังงานให้ได้ตามเป้าหมายทั้งหมดดังกล่าว
พลังงานแสงอาทิตย์ แบ่งการส่งเสริมซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตร ฯ ออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นอกเขตสายส่งไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 2,000 กิโลวัตต์ในปี 2565 โดยกระทรวงพลังงานพร้อมจะเป็นผู้จัดหาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมบริการด้านวิชาการและเทคนิค ส่วนกระทรวงเกษตรจะสนับสนุนวิเคราะห์แหล่งน้ำต้นทุน และกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ระบบสูบน้ำในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเพื่อการอุปโภค บริโภค หรือเพื่อการเกษตรที่ใช้น้ำน้อยแต่ใช้สม่ำเสมอ รวมทั้งการส่งเสริมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพิ่มคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้าให้แก่เกษตร และบุคคลทั่วไป
พลังงานลม มีเป้าหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 โดยกระทรวง พลังงานจะพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ที่ภาครัฐหรือเอกชน จะขออนุญาตใช้พื้นที่ สปก. รวมทั้งติดตามการดำเนินโครงการทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ส่วนกระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาวางกฎ ระเบียบ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรค ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็ว
พลังงานน้ำ มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำท้ายเขื่อน อาคารชลประทาน จำนวน 140 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 โดยกระทรวงพลังงานจะส่งเสริมและดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำท้ายเขื่อนและอาคารชลประทาน กระทรวงเกษตร ฯ จะช่วยในด้านข้อมูลปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ข้อมูลสภาพภูมิประเทศ และธรณีวิทยา
พลังงานชีวมวล มีเป้าหมายจะส่งเสริมเพื่อการผลิตไฟฟ้าจำนวน 3,700 เมกะวัตต์ และผลิตความร้อน 6,800 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภายในปี 2565 โดยกระทรวงพลังงานจะกำหนดราคากลางในการซื้อขายเชื้อเพลิงจากชีวมวลที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อเกษตรกร และผู้รับซื้อชีวมวล กระทรวงเกษตร ฯ จะส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานชีวมวล และสนับสนุนให้ใช้พื้นที่รกร้างวางเปล่า สำหรับปลูกพืชพลังงาน
และด้านพลังงานจากก๊าซชีวภาพ มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจำนวน 120 เมกะวัตต์ ผลิตความร้อนจำนวน 600 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภายในปี 2565 กระทรวงพลังงานจะร่วมกับกระทรวงเกษตร ฯ ส่งเสริมการผลิตและใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มปศุสัตว์ และด้านการเกษตรอื่นๆ ตลอดจนการจัดการของเสียภายในฟาร์มปศุสัตว์ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก อย่างถูกสุขลักษณะ รวมทั้งจะพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ด้านการผลิตการใช้ก๊าซชีวภาพอย่างปลอดภัย