กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และ WWF ประเทศไทย จับมือองค์กรเอกชนและภาคธุรกิจ กว่า 10 หน่วยงานจัดงาน “รวมพลังสรรสร้าง เพื่อช้างไทย ครั้งที่ 2” วันที่ 13-14 มี.ค.53 ตั้งเป้าเป็นโครงการต้นแบบเพื่ออนุรักษ์ช้างป่าและลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับช้างในระยะยาว
องค์การกองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลกแห่งประเทศไทย (WWF Thailand Country Programme) และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เตรียมจัดการ วันช้างไทย 13 มีนาคม 2553 นี้ ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสรรสร้าง เพื่อช้างไทย ครั้งที่ 2” ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 13-14 มี.ค. 2553 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน กว่า 10 หน่วยงาน เพื่อลดปัญหาขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชาวบ้าน กรณีช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมและส่งเสริมการอนุรักษ์ช้างป่าในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และเพิ่มจำนวนประชากรช้างในระยะยาว เพื่อเป็นโครงการต้นแบบเพื่ออนุรักษ์ช้างป่าแบบบูรณาการ ระยะยาวอย่างเป็นระบบ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ
นับตั้งแต่ WWF ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการประสานงานที่ผ่านมาพบว่า ช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในปี พ.ศ. 2548 สำรวจพบช้างป่าจำนวน 120 ตัว และในปี พ.ศ. 2552 พบช้างป่าเพิ่มจำนวนเป็น 200 ตัว และออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าในพื้นที่ป่า และการฟื้นฟูธรรมชาติ โครงการพระราชดำริฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และเอกชนหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท โนเกีย จำกัด บริษัท กระทิงแดง จำกัด และบริษัท โคลาโคล่า (ประเทศไทย) จำกัด
เป้าหมายของการดำเนินงานในระยะยาวคือ ช้างป่ามีการกระจายพื้นที่ในการออกหาอาหาร ในเขตเชื่อมต่อกับผืนป่าแก่งกระจานมากขึ้น ออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตป่าธรรมชาติ ลดลง 50 % และคาดว่าจะไม่พบช้างป่าได้รับบาดเจ็บหรือถูกฆ่าตายอีก
และในระยะ 10 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นไป จำนวนประชากรช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จะเพิ่มขึ้นประมาณ 30 % จากจำนวนช้างป่าในปี 2552 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 ตัว
นอกจากนั้นยังมีงานจัดสัปดาห์นับช้างป่ากุยบุรี โดยชมรมฅนรักษ์ช้างป่าจะอาสาสมัครจำนวน 30 คนเข้าร่วมกิจกรรมนับช้างป่าระหว่างวันที่ 15-21 มีนาคม 2553 โดยเฝ้าสังเกตการณ์บนนั่งร้านจำนวน 20 จุด ในพื้นที่ป่าฟื้นฟูธรรมชาติโครงการพระราชดำริฯ ในช่วงกลางวันตลอดสัปดาห์ มีการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มพืชอาหารในป่าธรรมชาติให้กับช้างป่าและสัตว์กินพืชอื่น ๆ ภายใต้แนวคิด“เก็บเมล็ดเพาะกล้า สร้างป่าใหญ่ให้ช้างให้คน” โดยอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชมรมอนุรักษ์ช้างป่าและสิ่งแวดล้อมอำเภอกุยบุรี และชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ช้างป่ากุยบุรี จัดหาจำนวนกล้าไม้ป่า 10,000 กล้า อาทิ ต้นกระเหรี่ยง สำโหรง ไทร มะขามป้อม มะปรางป่า มะค่า ไทร ฯลฯ เพื่อปลูกในพื้นที่ป่าธรรมชาติและพื้นที่สาธารณะของชุมชน 3 หมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ในวันที่ 13-14 มี.ค. จะมีการจัดกิจกรรมเวทีกลางแจ้งภาคกลางวัน มีการประกวดภาพวาด และเรียงความ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในหัวข้อ “10 ปี ข้างหน้า ช้างป่ากุยบุรีเป็นอย่างไร” มีการตอบปัญหาชิงรางวัล การแสดงดนตรีบทเพลงเพื่อสัตว์ป่า โดยชุดชุมชนสัมพันธ์อุทยานแห่งชาติกุยบุรี การจัดซุ้มนิทรรศการ และธรรมชาติศึกษา ซุ้มโครงการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซุ้มอนุรักษ์ช้างป่า ซุ้มอนุรักษ์กระทิง ซุ้มอนุรักษ์เสือโคร่ง ซุ้มอนุรักษ์สัตว์ป่าป่ากุยบุรี ซุ้มนิทรรศการช้างป่าและการแก้ปัญหาคนกับช้างป่าจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า
หน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานในโครงการ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โครงการอนุรักษ์ช้างป่า และจัดการสถานการณ์ระหว่างคนกับช้างป่า WWF ประเทศไทย ชุดประสานงานโครงการป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ บ้านรวมไทย ชมรมฅนรักษ์ช้างป่า ชมรมอนุรักษ์ช้างป่าและสิ่งแวดล้อมอำเภอกุยบุรี ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ช้างป่ากุยบุรี(Kui Buri Nature Tour) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ องค์การบริหารส่วนตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลกุยบุรี อำเภอกุยบุรี เทศบาลตำบลกุยบุรี อำเภอกุยบุรี โครงการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี WWF ประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย สาขากุยบุรี บริษัท ส.สมบูรณ์ปิโตรเลียม จำกัดบริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทโคคา โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด และโรงแรมบันยันทรีกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นพื้นที่คุ้มครองที่มีความสำคัญในแง่ของการเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าแก่งกระจาน อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ความสำคัญระดับโลก และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เช่น ช้างป่า (Elephas maximus) เสือโคร่ง (Panthera tigris) เก้งหม้อ (Muntiacus feai) สมเสร็จ (Tapirus indicus) และจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกอาเซียน (Asean Heritage) ภายใต้ชื่อ “ผืนป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex)” และได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ช้างป่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้างป่าเอเซียที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีนโยบายนำเสนอผืนป่าแก่งกระจาน ต่อองค์การยูเนสโก เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก โดยครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่งได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี พื้นที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันต์ และพื้นที่ป่าธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี พื้นที่เขตปลอดภัยในราชการทหารบริเวณรอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณสุพล จิตรวิจักษณ์ ผู้จัดการโครงการ โทร. 08 1822 9789
WWF ประเทศไทย (WWF Thailand Country Programme)
สำนักงาน โทร. 0 2942 7691-4 Ext. 118
Contact: วิภาวี ปัญญาดี Marketing Unit Head Tel. 08 1992 6145
Fax: 0 2942 7649 — 50
www.wwfthai.org, www.panda.org/greatermekong,