กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดถ้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติควรจะโต 8-10% ในปี 2010 แต่การท่องเที่ยวในระยะยาวน่าเป็นห่วง แนะรัฐมุ่งเน้นการขยายไฟฟ้า ประปา และการคมนาคมให้ครอบคลุมและเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center: SCB EIC) ได้วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทย และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2010 จะฟื้นตัวได้ประมาณ 8-10% แต่ยังมีเรื่องเหตุการณ์รุนแรงเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากการสำรวจโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความปลอดภัยมากเป็นอันดับแรกๆ ทั้งนี้ การฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมโดยตรง หากพิจารณาประกอบกับการขยายตัวของจำนวนห้องพัก คาดว่าโรงแรม 2-3 ดาวจะได้รับผลดีมากกว่าโรงแรมระดับบน นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าหากดำเนินการทุกอย่างต่อไปแบบเดิมๆ จะไม่สามารถทำให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาวได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยภาครัฐควรเริ่มต้นขยายโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมให้ครอบคลุมและเข้าถึงจังหวัดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเข้มงวดกับการทำลายสิ่งแวดล้อมทางการท่องเที่ยว
“ในปี 2010 คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะสามารถฟื้นตัวและเติบโตได้ประมาณ 8-10% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นประวัติการณ์ถึงราว 15 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมโดยตรง หากพิจารณาร่วมกับการขยายตัวของห้องพักโรงแรมแต่ละระดับในปี 2010 และพฤติกรรมการเลือกพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวสัญชาติต่างๆ เช่น คนญี่ปุ่นเลือกพักโรงแรม 2 ดาวประมาณ 20% คนอินเดียและมาเลเซียประมาณ 40% เลือกพักโรงแรม 3 ดาว เป็นต้น จะพบว่าโรงแรม 2 ดาวจะมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นมากกว่าโรงแรมระดับอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นน้อยกว่า” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว
“หากมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวไม่นานนัก ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยที่ผ่านมาด้วยจุดเด่นของการท่องเที่ยวไทยทำให้ใช้เวลาเพียงประมาณ 3-4 เดือนในการฟื้นตัวจากการระบาดของโรค SARS การปฏิวัติ และการเกิดสึนามิ แต่เหตุการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงเช่นการปิดสนามบินและปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาจากนั้นทำให้การท่องเที่ยวไทยใช้เวลาเกือบ 10 เดือนในการฟื้นตัว” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม
ความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยวไทยเป็นจุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยแข็งแกร่งและฟื้นตัวได้เร็ว หากดูจากราคาห้องพักโรงแรมที่มีมาตรฐานเดียวกัน เครือเดียวกัน แบบห้องพักเหมือนกัน แหล่งที่ตั้งคล้ายๆ กัน จะเห็นได้ว่า นักท่องเที่ยวเต็มใจจ่ายเงินมากกว่าเกือบเท่าตัวเพื่อมาเที่ยวเมืองไทย แทนที่จะไปประเทศคู่แข่งใกล้เคียง นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับขนาดของประเทศแล้ว แหล่งท่องเที่ยวไทยและกิจกรรมการท่องเที่ยวประมาณ 100 แห่งที่มีการกล่าวถึงตามสื่อและเวบไซต์ด้านการท่องเที่ยวชั้นนำ แสดงให้เห็นอีกด้านของความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่มีประมาณ 200 แห่ง โดยเฉพาะด้านทะเลและชายหาดที่ประเทศไทยเป็นผู้นำอย่างชัดเจน
วิธาน เจริญผล นักวิเคราะห์อาวุโสของศูนย์วิจัยฯ กล่าวต่อว่า “สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการท่องเที่ยวไทยในระยะยาว เพราะแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบันคงไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปีได้ตลอดไป หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของนักท่องเที่ยวตามฤดูกาล นักท่องเที่ยวในไตรมาสสี่จะเพิ่มเกือบ 2 เท่าตัว จาก 4.2 ล้านคนในปี 2009 เป็น 7.8 ล้านคนในปี 2020 ปัจจุบันโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ อย่างภูเก็ตจะมีอัตราการเข้าพักเต็มในไตรมาสสี่ และมีชายหาดเหลือให้สร้างโรงแรมใหม่ ๆ ได้ไม่มากนัก อีกทั้งธรรมชาติเองก็มีจำกัด ดังนั้น หากดำเนินการด้านการท่องเที่ยวทุกอย่างแบบเดิมๆ (business as usual) การท่องเที่ยวไทยจะเติบโตได้แบบมีขีดจำกัด”
การวิเคราะห์ของ SCB EIC ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในระยะยาวนั้นควรมุ่งดำเนินการด้านอุปทาน เช่น ยกระดับจังหวัดที่มีศักยภาพและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รวมถึงการเกาะกระแสแนวโน้มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและจะเป็นประโยชน์กับการท่องเที่ยว เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมถึงเป็นที่พักระยะยาวสำหรับผู้เกษียณอายุ การวางตำแหน่งให้ไทยเป็นโรงเรียนสอนกอล์ฟแห่งเอเชียและแพคเกจท่องเที่ยวสำหรับนักกอล์ฟที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของชนชั้นกลางรายได้สูงของประเทศในเอเชีย การท่องเที่ยวสำหรับนักอนุรักษ์ธรรมชาติจากกระแสการรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น
ภาครัฐควรขยายสาธารณูปโภคและการคมนาคมให้ครอบคลุม ดูตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับไทย แต่ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพทำให้ฝรั่งเศสสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังควรกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษต่าง ๆ ให้เหมาะสมเพื่อรักษาความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการตลาดแหล่งท่องเที่ยวเดิมควบคู่ไปกับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น จัดแพคเกจทัวร์เที่ยวภูเก็ตพ่วงตรัง และเที่ยวกรุงเทพฯ พ่วงสุโขทัย เป็นต้น
“เชื่อว่าคำตอบเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว แต่คำถามสำคัญ ณ เวลานี้ คงไม่ใช่ว่าเราต้องทำอะไร แต่น่าจะเป็นว่า เราจะเริ่มต้นได้เมื่อไหร่ มากกว่า” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวทิ้งท้าย
ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “การท่องเที่ยวไทยมีความสามารถในการแข่งขันแค่ไหน (และจะเพิ่มได้อีกอย่างไร)?" สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953
อีเมล์ pinattha.aruntat@scb.co.th